ราคามันสำปะหลัง
ราคาหัวมันสด/มันเส้น (นครราชสีมา) 
ราคามันเส้น/โกดังส่งออก (อยุธยา) 
ราคามันเส้น (กรมการค้าภายใน)
การส่งออกมันเส้น/มันอัดเม็ด (สภาหอการค้าฯ) 
		
		
ชื่อ Admin

รหัสผ่าน :


 
 
 
 
 




จากมันสำปะหลัง….สู่เอทานอล

อังคาร ที่ 19 เดือน สิงหาคม พ.ศ.2551


จากมันสำปะหลัง….สู่เอทานอล
 
เมื่อปลายปี 2546 เคยได้รับฟังคุณธนิต โสภโณดร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จังหวัดขอนแก่น นำเสนอโครงการความร่วมมือภาครัฐและเอกชน โดยมีเกษตรกรเป็นศูนย์กลางเพื่อพัฒนาการผลิตมันสำปะหลังสู่อุตสาหกรรมเอทานอล ให้ท่านอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ ได้รับทราบ เห็นว่าเป็นโครงการที่น่าสนใจ จึงนำมาเสนอให้ท่านผู้อ่านทราบด้วย พร้อมนี้จะได้นำเรื่องราวของเอทานอลมาแนะนำให้ท่านที่ยังไม่รู้จัก ได้รู้จัก “เอทานอล” มากขึ้น โดยเฉพาะเอทานอลจากมันสำปะหลัง
 
โครงการนำร่องผลิตมันสำปะหลังสู่เอทานอล
โครงการนี้เริ่มต้นจากการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2543 เห็นชอบในหลักการและแนวทางการส่งเสริม สนับสนุนการผลิตและใช้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิงตามที่คณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะนำเอทานอลมาใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ ต่อมาในปี 2545 ได้มีการพิจารณาอนุญาตให้ตั้งโรงงานผลิต และจำหน่ายเอทานอลเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงจำนวน 8 โรงงาน โดยใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบ 4 โรงงาน และใช้กากน้ำตาลเป็นวัตถุดิบจำนวน 4 โรงงาน และทราบว่ากำลังมีการขออนุญาตจัดตั้งโรงงานเพิ่มอีก 18 โรงงาน
 
บริษัท ไทยง้วน เอทานอล จำกัด เป็น 1 ใน 8 โรงงานที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งโรงงานผลิตและจำหน่ายเอทานอล และเป็น 1 ใน 4 โรงงานที่ใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบ บริษัท ไทยง้วนฯ ได้ดำเนินการก่อสร้างโรงงานที่กิ่งอำเภอโนนศิลา จังหวัดขอนแก่น ในพื้นที่ 230 ไร่ กำลังการผลิต 130,000 ลิตรต่อวัน ทำงาน 330 วันต่อปี ใช้วัตถุดิบมันสำปะหลัง 750-800 ตันต่อวัน รวมทั้งปีจะใช้มันสำปะหลังประมาณ 250,000 ตัน ซึ่งผลผลิตจำนวนนี้ ต้องใช้พื้นที่ปลูกมันสำปะหลังถึง 1 แสนไร่ บริษัทจำเป็นต้องแสวงหาพันธมิตรในการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุดิบดังกล่าว จึงได้ทำการสำรวจศักยภาพพื้นที่บริเวณรอบๆ โรงงานในรัศมี 30-40 กิโลเมตร พร้อมกับเข้าไปชักชวนเกษตรกรให้ปลูกมันสำปะหลังเพื่อนำผลผลิตเป็นวัตถุดิบป้อนให้โรงงานน เท่านั้นคงยังไม่เพียงพอ บริษัทจำเป็นต้องมีแหล่งวิชาการด้วย จึงได้เข้าไปปรึกษากับหน่วยงานราชการในพื้นที่คือ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จังหวัดขอนแก่น สังกัดกรมวิชาการเกษตร เพื่อขอความร่วมมือทางด้านวิชาการ โดยบริษัทมีความมุ่งมั่นว่า ต้องการเป็นโรงงานต้นแบบผลิตพลังงาน และตัวโรงงานเองจะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม สร้างความเป็นธรรมให้กับเกษตรกร ร่วมมือกับภาคราชการอย่างเต็มที่
 
คุณธนิต โสภโณดร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จังหวัดขอนแก่น ได้ร่วมกับศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น และนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง พิจารณาเห็นว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังมากถึง 6.9 ล้านไร่ ผลผลิตรวมประมาณ 20.42 ล้านตัน แม้ผลผลิตส่วนใหญ่จะส่งออกจำหน่ายต่างประเทศ ทำรายได้ให้กับประเทศปีละกว่า 2 หมื่นล้านบาท แต่การส่งออกก็มีอุปสรรค โดยเฉพาะมีตลาดที่จำกัด ราคาไม่แน่นอน และอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ดังนั้นการนำมันสำปะหลังมาผลิตเอทานอล น่าจะเป็นทางเลือกใหม่ ที่จะทำให้มันสำปะหลังมีโอกาสทางการตลาดมากขึ้น สามารถแก้ปัญหาผลผลิตที่มีมากเกินต้องการได้ นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตด้วย จึงได้ให้ความร่วมมือและสนับสนุนทางด้านวิชาการแก่บริษัทที่ได้เข้ามาปรึกษาหารือ และขอความร่วมมือ

อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพในการผลิตมันสำปะหลัง ในปัจจุบันยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ โดยมีผลผลิตเฉลี่ยเพียง 2.6 ตันต่อไร่ ในขณะที่การผลิตที่เต็มศักยภาพจะอยู่ที่ 5 ตันต่อไร่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 ซึ่งเป็นหน่วยงานสังกัดกรมวิชาการเกษตร ที่มีภารกิจในด้านการวิจัยและพัฒนาในพื้นที่เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาแนวทางพัฒนาการผลิตมันสำปะหลังเพื่อให้มีปริมาณและคุณภาพที่เพียงพอรองรับอุตสาหกรรมเอทานอลที่เกิดขึ้นในประเทศ ประกอบกับสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 มีข้อมูลด้านพันธุ์และเทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังอยู่แล้ว จึงพิจารณาว่าน่าจะต้องดำเนินการเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตมันสำปะหลังของเกษตรกรให้มีปริมาณและคุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการของโรงงาน โดยใช้กระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วมยึดเกษตรกรเป็นศูนย์กลางพัฒนาการผลิต โดยใช้ฐานความรู้เป็นหลัก จึงได้เกิดโครงการความร่วมมือภาครัฐและเอกชน โดยมีเกษตรกรเป็นศูนย์กลาง เพื่อพัฒนาการผลิตมันสำปะหลังสู่อุตสาหกรรมเอทานอล ขึ้น
 
โดยมีวัตถุประสงค์
- เพื่อสนับสนุนการทำงานแบบบูรณาการระหว่างภาครัฐ และเอกชน โดยยึดเกษตรกรเป็นศูนย์กลาง
- เพื่อให้มีวัตถุดิบที่มีคุณภาพ และปริมาณสอดคล้องกับความต้องการของโรงงาน
- เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเสถียรภาพการผลิตมันสำปะหลังให้แก่เกษตรกรทั้งนี้มีเป้าหมายสำคัญ 4 ประการ คือ

1. เพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังจาก 2.6 ตัน/ไร่ เป็น 3.5 ตัน/ไร่
2. ได้เทคโนโลยีหรือวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อลดปริมาณความเสียหายของผลผลิตให้มากที่สุด
3. โรงงานได้ผลผลิตมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานอย่างเพียงพอ และผลิตเอทานอลได้อย่างมีคุณภาพ
4. เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่เป็นธรรม
 
การดำเนินงานตามโครงการ มีขั้นตอนดังนี้
- กำหนดพื้นที่เป้าหมายที่เหมาะสมในการดำเนินงาน โดยยึดพื้นที่ในเขตรัศมี 50 กิโลเมตรรอบๆ โรงงาน
- วิเคราะห์ศักยภาพ ในการผลิตของพื้นที่ โดยใช้ระบบสารสนเทศและกระบวนการการมีส่วนร่วมของเกษตรกร
- จัดประชุมผู้มีส่วนร่วมทั้งฝ่ายบริษัท เจ้าหน้าที่ นักวิชาการของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และเกษตรกร เพื่อวางแผนพัฒนาการผลิต
- จัดทำแปลงต้นแบบการผลิตตามหลักเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) แปลงวิจัย และทดสอบตามความจำเป็น
- ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมาย
- จัดทำและสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการและร่วมงานกับโรงงาน
- มีการติดตามประเมินผลความก้าวหน้าทุก 4 เดือน
 
เกี่ยวกับโครงการนี้ ท่านอธิบดี ฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวกับผู้อำนวยการสำนัก ฯ ธนิต โสภโณดร นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่ของบริษัท ที่เข้าพบในวันนั้นเพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติงานว่า "โครงการนี้ควรทำเหมือนโครงการอาหารปลอดภัย หรือ Food Safety ต้องมีการจดทะเบียนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ กรมวิชาการเกษตรควรจะนำวิชาการเข้าไปใช้เต็มที่ โดยเฉพาะ GAP และ GMP (โรงงาน) ต้องมีการคัดคุณภาพของผลผลิต ต้องดูคุณภาพของผลผลิตว่าเป็นอย่างไร หลังจากดำเนินการไปแล้วและฝากไว้ถึงการกำหนดเขตการปลูก (Zoning) จะทำหรือกำหนดเขตได้อย่างไรว่า เขตไหนเหมาะสำหรับการปลูกมันสำปะหลังเพื่อใช้ทำเอทานอล ต้องทำแผนปฏิบัติการและต้องกำหนดบทบาทของหน่วยงานอื่นที่จะมาร่วมทำงานตามโครงการนี้ ทั้งเกษตรจังหวัด เกษตรและสหกรณ์จังหวัดหรือ หน่วยงานอื่นๆ ด้านวิชาการต้องเก็บข้อมูลให้ดี อยากให้เริ่มที่เกษตรกรน้อยๆ ก่อน ถ้าโครงการดี ประสบความสำเร็จ เกษตรกรจะเข้ามาร่วมเอง จำนวนจะเพิ่มขึ้นเอง ต้องมีการเก็บข้อมูล ความเปลี่ยนแปลงของเกษตรกรด้วยว่าเมื่อเข้าร่วมโครงการแล้วเกษตรกรได้ประโยชน์อะไรบ้าง ดังนั้นจึงต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลเกษตรกรก่อนเริ่มโครงการไว้เปรียบเทียบกับข้อมูลที่ได้หลังจากที่เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ”
 
รู้จักกับเอทานอล
พิชิต เดชนีรนาท เขียนไว้ในเรื่อง “เอทานอล แหล่งพลังงานสะอาดของไทยในอนาคต” ในเว็บไซต์ manager.co.th ว่า เอทานอลเป็นแอลกอฮอล์ชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการหมักพืช เศษซากพืช เช่น อ้อยน้ำตาล กากน้ำตาล กากอ้อย บีทรูท แป้ง มันสำปะหลัง มันเทศ ธัญพืชต่างๆ เช่น ข้าว ข้าวโพด ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวฟ่าง เพื่อเปลี่ยนแป้งจากพืชให้เป็นน้ำตาล แล้วเปลี่ยนจากน้ำตาลเป็นแอลกอฮอล์อีกครั้ง แอลกอฮอล์ที่ทำให้บริสุทธิ์ตั้งแต่ 95% จะเรียกว่า เอทานอล (Ethanol)

เอทานอล เป็นแอลกอฮอล์ที่นำไปผสมน้ำมัน (Fuel Alcohol) เป็นแอลกอฮอล์ที่มีความบริสุทธิ์ตั้งแต่ 95% โดยปริมาตร ซึ่งสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ใน 3 รูปแบบ คือ

เอทานอล 95% ใช้เป็นเชื้อเพลิงโดยตรงทดแทนน้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล ใช้ได้กับเครื่องยนต์ที่มีอัตราส่วนการอัดสูง สำหรับเครื่องยนต์ดีเซลสามารถใช้เอทานอลบริสุทธิ์ 95% ผสมน้ำมันดีเซล เรียกว่า ดีโซฮอล์ (Diesohol) ในอัตราส่วนร้อยละ 15 และเพิ่มสารปรับปรุงบางตัวในปริมาณร้อยละ 1-2

เอทานอล 99.5% โดยปริมาตร ผสมในน้ำมันเบนซิน เรียกว่า แก๊สโซฮอล์ (Gasohol) โดยทั่วไปใช้ผสมกับน้ำมันเบนซินอัตราส่วนร้อยละ 10 ในลักษณะของสารเติมแต่งเพื่อปรับปรุงค่าออคเทนของน้ำมันเบนซิน ซึ่งสามารถนำมาใช้งานกับเครื่องยนต์โดยทั่วไป ไม่ต้องดัดแปลงเครื่องยนต์แต่อย่างใด

เป็นสารเคมีเพิ่มออคเทน (Octane) แก่เครื่องยนต์ โดยการเปลี่ยนรูปเอทานอลมาเป็นสาร ETBE (Ethyl Tertiary Butyl Ether) สามารถใช้ทดแทนสาร MTBE (Methyl Tertiary Butyl Ether) ซึ่ง MTBE เป็นสารเติมแต่งในน้ำมันเบนซินที่หลายประเทศห้ามใช้เนื่องจากก่อให้เกิดมลภาวะในอากาศสูงกว่าสารเติมแต่งอื่นๆ
 
เอทานอลจากมันสำปะหลัง
ดร.สุรพงษ์ เจริญรัถ ได้เขียนไว้ในเรื่อง “เอทานอล จากมันสำปะหลัง” หนังสือพิมพ์กสิกร ฉบับประจำเดือน กรกฎาคม-สิงหาคม 2546 ความตอนหนึ่งสรุปได้ว่า การนำพืชผลการเกษตรมาผลิตเป็นเชื้อเพลิง เพื่อลดมลภาวะทางอากาศนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทำการทดลองทั้งการผลิต และทดลองใช้ในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรดามานานแล้ว การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ก็ทดลองจนได้ผลดีมาแล้ว จนกระทั่งวันที่ 19 กันยายน 2543 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการของโครงการผลิตแอลกอฮอล์จากพืชเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง โดยให้กระทรวงอุตสาหกรรมรับไปแต่งตั้งคณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติขึ้น เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2543
ต่อมาเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2543 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตและการใช้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิง ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โดยรัฐจะสนับสนุนให้ภาคเอกชนลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตเอทานอลเป็นเชื้อเพลิง และให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดแผนการผลิตอ้อย และมันสำปะหลังเพื่อรองรับและให้สอดคล้องกับการลงทุนผลิตเอทานอล
จากการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เกี่ยวกับสถานภาพของวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ในการผลิตเอทานอล พบว่า พืชที่เหมาะสมสำหรับการนำมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตเอทานอลมากที่สุดคือ มันสำปะหลัง และจากสถานการณ์การผลิตมันสำปะหลังของประเทศไทยพบว่า ปริมาณผลผลิตเป็นส่วนเกินของตลาดประมาณ 4 ล้านตัน/ปี ซึ่งจำนวนนี้จะสามารถผลิตเอทานอลได้ประมาณ 2 ล้านลิตร/วัน (มีข้อมูลระบุว่า มันสำปะหลัง 1 ตัน ผลิตเอทานอลได้ 155 ลิตร)
สำหรับพืชอื่นๆ เช่น อ้อย จากการศึกษาพบว่า ยังไม่เหมาะสม เพราะปริมาณการผลิตอ้อยยังไม่เพียงพอกับความต้องการของอุตสาหกรรมน้ำตาล ส่วนกากน้ำตาลสามารถนำมาผลิตเอทานอลได้เฉพาะส่วนที่เหลือจากการบริโภค ซึ่งมีประมาณ 8 แสนตัน/ปี เป็นปริมาณที่จะผลิตเอทานอลได้ 6 แสนลิตร/วัน
ดร.สุรพงษ์ เจริญรัถ สรุปไว้ว่า จากข้อมูลการศึกษาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีวัตถุดิบที่เพียงพอ จะผลิตเอทานอลได้วันละ 3 ล้านลิตร โดยไม่มีการขยายพื้นที่เพาะปลูก ทั้งนี้คาดว่าในระยะแรกปริมาณการใช้เอทานอลจะมีไม่เกิน 1 ล้านลิตร/วัน เพื่อนำไปผสมน้ำมันเบนซิน แทนการใช้สาร MTBE สำหรับการผิลตน้ำมันเบนซินออคเทน 95
 
สำหรับการผลิตเอทานอล หรือ เอทิลแอลกอฮอล์ จากพืช เช่น มันสำปะหลัง อ้อย และกากน้ำตาล ในกระบวนการผลิตนั้น หากใช้วัตถุดิบประเภทแป้ง และเซลลูโลส จะต้องนำมาย่อยให้เป็นน้ำตาลก่อนโดยใช้กรด แบคทีเรีย หรือ เอ็นไซม์ ส่วนวัตถุดิบที่เป็นน้ำตาลสามารถนำมาหมักกับเชื้อยีสต์ได้เลย ใช้เวลาในการหมักประมาณ 2-3 วัน จะได้แอลกอฮอล์ที่ความเข้มข้นประมาณร้อยละ 8-12 โดยปริมาตร จากนั้นนำไปกลั่นแยกแบบลำดับส่วน จะได้แอลกอฮอล์ที่ความเข้มข้นร้อยละ 95 โดยปริมาตร ในกรณีที่ต้องนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผสมแก๊สโซฮอล์ และดีโซฮอล์ จะต้องทำการแยกส่วนน้ำออกอีกประมาณร้อยละ 5 โดยปริมาตร โดยวิธีการกลั่นกับสารตัวที่สาม หรือแยกด้วยเครื่องโมแลกคูลาซีฟ (molecularsieve) หรือ เครื่องแยกระบบเมมเบรน ซึ่งกระบวนการผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังของโรงงานต้นแบบผลิตแอลกอฮอล์ของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย มีขั้นตอนการผลิตเอทานอลไร้น้ำ ด้วยวิธีการกลั่นสารตัวที่สาม มีกำลังผลิตวันละ 1,500 ลิตร โดยใช้หัวมันสำปะหลังวันละ 10 ตัน
 
ดร.สุรพงษ์ เจริญรัถ ยังได้กล่าวถึงการปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลัง เพื่อการผลิตเอทานอลด้วยว่า ปริมาณเอทานอลที่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณแป้งในหัวสดพันธุ์ที่ให้ปริมาณแป้งในหัวสดสูง เมื่อหมักแล้วจะได้ปริมาณเอทานอลสูงด้วย
จากการศึกษาวิจัยร่วมกันระหว่าง ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง สถาบันวิจัยพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พบว่า มันสำปะหลังอายุเก็บเกี่ยว 18 เดือน เป็นวัตถุดิบที่เหมาะสมกับการผลิตเอทานอล โดยการใช้ร่วมกับยีสต์สายพันธุ์ Saccharomyces cerevisiae TISTR 5596 โดยไม่ต้องเพิ่มสารอาหาร
อย่างไรก็ตาม สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จังหวัดขอนแก่น ได้ให้ข้อมูลว่า พันธุ์มันสำปะหลังที่เหมาะสมสำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีด้วยกัน 5 พันธุ์ คือ ระยอง 60 ระยอง 5 เกษตรศาสตร์ 50 ระยอง 90 และระยอง 72 ในจำนวนนี้ พันธุ์ที่ให้ปริมาณผลผลิต และเปอร์เซ็นต์แป้งสูงได้แก่

- ระยอง 90 มีผลผลิตและเปอร์เซ็นต์แป้งในหัวมันสูง ข้อจำกัดคือหลังการเก็บเกี่ยวแล้ว ต้นจะแห้งเร็ว ทำให้ไม่สามารถเก็บท่อนพันธุ์ไว้ได้นาน ควรใช้ต้นพันธุ์ภายใน 2 สัปดาห์ หลังเก็บเกี่ยว

- ระยอง 5 มีศักยภาพในการให้ผลผลิตและเปอร์เซ็นต์แป้งสูง ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี ท่อนพันธุ์แข็งแรง และงอกดี ข้อจำกัดคือ มีอาการใบไหม้

- เกษตรศาสตร์ 50 มีศักยภาพในการให้ผลผลิตและเปอร์เซ็นต์แป้งสูง ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี ต้นพันธุ์แข็งแรง เก็บรักษาได้นาน ข้อจำกัดคือ จะแตกกิ่ง ลำต้นโค้ง กิ่งทำมุมกว้าง ไม่สะดวกในการปฏิบัติดูแลรักษา และเก็บเกี่ยว

- ระยอง 72 เป็นพันธุ์ที่เหมาะสำหรับปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ผลผลิตสูง แม้ว่าจะมีเปอร์เซ็นต์แป้งต่ำกว่าพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 แต่เมื่อคำนวณผลผลิตแป้งต่อไร่แล้วจะให้ปริมาณแป้งรวมสูงกว่าพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 ถึง 11%
 
นอกจากนี้ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยองยังได้ทำการวิจัยปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลังสายพันธุ์ 196 และ 199 ที่ให้เปอร์เซ็นต์แป้งสูง ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบคาดว่าสายพันธุ์ 199 น่าจะเหมาะสมในการส่งเสริมให้ปลูกเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอลต่อไปในอนาคต
 
สถานการณ์เอทานอลของไทย
พิชิต เดชนีรนาท กล่าวในเรื่อง “เอทานอล แหล่งพลังงานสะอาดของไทยในอนาคต” ว่า จากการรายงานของบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ระบุว่า การผลิตเอทานอลของโลกมีมากกว่า 3,000 ล้านลิตร/ปี บราซิล เป็นประเทศที่ผลิตและใช้เอทานอลมากที่สุดในโลก มีการใช้เอทานอลอย่างแพร่หลายมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1975

ปัจจุบันบราซิล ผลิตเอทานอลรวม 13,000 ล้านลิตรต่อปี ใช้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิงโดยตรงกับรถยนต์ที่ได้รับการปรับแต่งเครื่องยนต์แล้วประมาณ 4 ล้านคัน และใช้เอทานอลจำนวนร้อยละ 22 ผสมในน้ำมันเบนซิน เพื่อใช้กับเครื่องยนต์ปกติประมาณ 12 ล้านคัน

สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่ผลิต และใช้เอทานอลมากเป็นที่ 2 รองจากบราซิล มีปริมาณการผลิตรวม 7,000 ล้านลิตร/ปี ในสหภาพยุโรปมีการผลิตเอทานอลรวมกันประมาณ 2,000 ล้านลิตร/ปี ฝรั่งเศส เป็นประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด คาดว่าความต้องการใช้เอทานอลในยุโรปจะเพิ่มขึ้นเป็น 12,000 ล้านลิตร/ปี ในอีก 10 ปี ข้างหน้า

เอเชีย มีปริมาณการผลิตรวม 5,500 ล้านลิตร/ปี โดยมีประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด รองลงมาคือ อินเดีย ส่วนญี่ปุ่นและเกาหลี เป็นประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ การใช้เอทานอลในเอเซีย ส่วนใหญ่ใช้เพื่อการบริโภค สำหรับออสเตรเลียมีปริมาณการผลิตเอทานอลประมาณ 110 ล้านลิตร/ปี

สำหรับประเทศไทย มีการแสวงหาเชื้อเพลิงจากทรัพยากรภายในประเทศทดแทนการนำเข้ามาเป็นเวลานาน แต่รัฐบาลเริ่มจะมีความสนใจพัฒนาการผลิตอย่างจริงจังเมื่อปี 2543 โดยการตั้งคณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติขึ้นมาดูแล ดังที่กล่าวมาแล้วในตอนต้น
คณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติ ได้กำหนดนโยบายให้มีการผสมเอทานอลในน้ำมันเชื้อเพลิง โดยในช่วง 2-3 ปีแรก ให้มีการผสมเอทานอลในน้ำมันเบนซินอัตราร้อยละ 10 ซึ่งเมื่อพิจารณาจากความต้องการใช้น้ำมันเบนซินภายในประเทศ พบว่าปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินภายในประเทศจะอยู่ที่ระดับ 20 ล้านลิตร/วัน ในจำนวนนี้เป็นน้ำมันเบนซินออคเทน 91 ประมาณร้อยละ 30 และน้ำมันเบนซินออคเทน 95 ประมาณร้อยละ 70 ถ้าหากนโยบายของคณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติบรรลุผล จะทำให้ความต้องการใช้เอทานอลเพิ่มเป็นวันละประมาณ 2 ล้านลิตร

ล่าสุด กระทรวงพลังงาน ได้มียุทธศาสตร์พลังงานทดแทนเพื่อเพิ่มการแข่งขันของประเทศ และการส่งเสริมการผลิตและการใช้เอทานอลเพื่อผสมกับน้ำมันเบนซินผลิตเป็นแก๊สโซฮอล์ เป็นยุทธศาสตร์ย่อยที่ได้กำหนดร่วมกันระหว่าง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพลังงาน โดยได้นำยุทธศาสตร์ดังกล่าว เสนอคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2546 คณะรัฐมนตรีมีมติ ดังนี้

1. เห็นชอบให้กระทรวงพลังงานจัดทำประมาณการใช้เอทานอลและพิจารณาผู้รับซื้อที่ชัดเจน จำนวนวันละ 1 ล้านลิตร ในปี 2547-2549 สำหรับทดแทนสาร MTBE ในน้ำมันเบนซิน 95 และเพิ่มเป็น 3 ล้านลิตร ในปี 2554 เพื่อใช้แทนสาร MTBE ในน้ำมันเบนซิน 95 และทดแทนน้ำมันเบนซิน 91 ในราคาที่กระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงอุตสาหกรรม ได้พิจารณาเห็นชอบร่วมกันแล้ว
2. เห็นชอบให้ดำเนินการมาตรการสนับสนุนการพัฒนาเอทานอลเบื้องต้นต่อไป โดยยกเว้นภาษีสรรพสามิต และลดหย่อยเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน รวม 0.68 บาทต่อลิตร คิดเป็นวงเงิน 2,480 ล้านบาทต่อปี จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
3. เห็นชอบการกำหนดมาตรการเร่งรัดให้รถยนต์ของหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ ใช้น้ำมันที่มีส่วนผสมเอทานอล เพื่อส่งเสริมด้านการตลาด และให้เกิดความมั่นใจของนักลงทุนและประชาชนผู้ใช้แก๊สโซฮอล์ ทั้งนี้ ให้กระทรวงอุตาสหกรรมเร่งรัดให้เกิดการลงทุนของโรงงานผลิตเอทานอลตามประมาณการที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีผลดีต่อเกษตรกรในการแก้ปัญหาราคาอ้อยและมันสำปะหลัง
4. ให้ตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อกำหนดมาตรการส่งเสริมการจัดตั้งโรงงานผลิตเอทานอล และสนับสนุนแผนการจัดการด้านวัตถุดิบ ตลอดจนรูปแบบการนำไปสู่การปฏิบัติที่ชัดเจน เพื่อเสนอต่อที่ประชุมระหว่างรัฐมนตรีของทั้ง 3 กระทรวงต่อไป

ต่อมาได้มีการประชุมเพื่อกำหนดมาตรการส่งเสริมแก๊สโซฮอล์ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2546 ณ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบในองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะทำงานส่งเสริมการผลิตและการใช้แก๊สโซฮอล์ ที่จะจัดตั้งขึ้นตามที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบ ให้มีคณะทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

คณะทำงานส่งเสริมการผลิตและการใช้แก๊สโซฮอล์ ได้ประชุมเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2547 พิจารณาการกำหนดคุณภาพน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ตามที่ผู้ประกอบรถยนต์หลายบริษัท เสนอให้ทำการทดสอบประสิทธิภาพอีกครั้งหนึ่ง โดยที่ประชุมจะได้เชิญบริษัทผู้ประกอบรถยนต์เข้าทดสอบประสิทธิภาพการใช้แก๊สโซฮอล์ในประเด็นความดันไอ ณ อุณหภูมิ 37.8 องศาเซลเซียส และการกลั่นที่การระเหยร้อยละ 50 โดยให้ทำการทดสอบให้เสร็จในเดือนเมษายน 2547

มอบหมายให้สำนักงานแผนและนโยบายพลังงาน เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบและนิยมใช้มากขึ้น และให้ติดตามการปฏิบัติตามมติ ครม. ที่ให้รถยนต์ของส่วนราชการใช้แก๊สโซฮอล์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิง ขณะนี้ทั้ง บางจาก และ ปตท. มีสถานีบริการในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเกือบ 400 แห่ง

ปัจจุบันมีโรงงานผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาลแล้ว 1 แห่ง ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กำลังการผลิตวันละ 25,000 ลิตร และมีโรงงานอีก 6 แห่ง อยู่ระหว่างการก่อสร้างเป็นโรงงานที่ใช้กากน้ำตาล 3 โรง และใช้มันสำปะหลัง 3 โรง มีความต้องการใช้กากน้ำตาลประมาณปีละ 400,000 ตัน และมันสำปะหลังปีละ 2,000,000 ตัน

ขณะนี้มีนักลงทุนสนใจยื่นขอเปิดโรงงานผลิตเอทานอลจากกระทรวงอุตสาหกรรมอีก 18 ราย กำลังการผลิตรวมกันกว่า 4.2 ล้านลิตรต่อวัน
 
จากข้อมูลดังกล่าว น่าจะทำให้เชื่อได้ว่าในอนาคต เอทานอล จะเข้าทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิงแม้จะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็น่าจะมีสัดส่วนที่มากพอสมควร ดังนั้น โครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร คงมิได้มีเพียงรายเดียวเท่านั้น แต่จะต้องมีเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพเป็นวัตถุดิบให้กับโรงงานผลิตเอทานอล ที่กำลังจะเกิดขึ้นตามมาอีกนับสิบแห่ง หรือหลายสิบแห่ง ในอนาคตอันใกล้นี้ และเมื่อถึงวันนั้น ประเทศเราคงพึ่งพาพลังงานเชื้อเพลิงจากต่างประเทศน้อยลง และมลภาวะที่เกิดจากการเผาผลาญของน้ำมันปิโตรเลียมก็จะลดน้อยลงด้วย สุขภาพของคนไทยจะดีขึ้น…หวังไว้เช่นนั้น
 
------------------------------------


คุณพรรณนีย์ วิชชาชู
ผู้เขียน