มันสำปะหลัง…. 5 ตันต่อไร่ ง่ายนิดเดียว
มันสำปะหลัง เป็นพืชที่เกษตรกรนิยมปลูกกันมากทั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก เนื่องจากเป็นพืชที่สามารถทนทานต่อสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ดี เช่น สามารถปลูกได้ในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ทนทานต่อสภาพแห้งแล้ง โรคและแมลง และสภาพความเป็นกรดเป็นด่าง pH ประมาณ 5 – 6 และจากปัญหาราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีก ในอนาคต รัฐบาลจึงได้กำหนดแผนและนโยบายพลังงานทดแทนจากพืชพลังงานเพื่อผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง อ้อย และไบโอดีเซลจากปาล์มน้ำมันและพืชอื่น ๆ เพิ่มขึ้น โดยในปี 2549 จะผลิตเอทานอล 1 ล้านลิตรต่อวัน และในปี 2554 จะผลิตเอทานอลเป็น 3 ล้านลิตรต่อวัน จึงมีความจำเป็นต้องใช้หัวมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบเพิ่มขึ้นอีกมาก กรมวิชาการเกษตร ได้จัดทำ Road Map ของมันสำปะหลัง โดยจะต้องเพิ่มผลผลิตต่อไร่จากปัจจุบันได้ผลผลิตประมาณ 3.2 ตันต่อไร่ให้สูงขึ้น เป็น 5 ตันต่อไร่ในปี 2551 ดังนั้นจึงจะต้องทำอย่างไร ที่ไหน เมื่อไหร่ เพื่อยกระดับผลผลิตของมันสำปะหลังให้ได้ 5 ตันต่อไร่ เพื่อให้มันสำปะหลังพอเพียงต่ออุตสาหกรรมแป้ง และ เอทานอล ภายใต้ข้อจำกัดของพื้นที่ปลูกที่มีเท่าเดิม ซึ่งมันสำปะหลังเป็นพืชที่มีศักยภาพในการเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้นได้ จากข้อมูลงานทดลองการใช้ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมีในมันสำปะหลัง ส่วนใหญ่ให้ผลเป็นไปในทำนองเดียวกัน คือต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์ควบคู่ไปกับปุ๋ยเคมีจึงจะให้ผลผลิตดีซึ่งอัตราปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมีที่เหมาะสมขึ้นกับคุณสมบัติของดิน มันสำปะหลังเป็นพืชที่ศักยภาพสามารถเพิ่มผลผลิตขึ้นได้มากกว่า 5 ตันต่อไร่ แต่การปลูกมันสำปะหลังของเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ได้ผลผลิตสูงเท่าที่ควร เนื่องจากดินที่ปลูกส่วนใหญ่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ การดูแลรักษาไม่ถูกต้อง และปลูกในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ซึ่งการที่เกษตรจะเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้นได้มากกว่า 5 ตันต่อไร่ โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม มีการอนุรักษ์ทรัพยากรดินไม่ให้เสื่อมโทรม และสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรได้อย่างยั่งยืน โดยลงทุนไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก จะต้องไม่ปฏิบัติดังนี้
1. ไม่ปลูกมันสำปะหลังในสภาพดินที่มีความเป็นด่างมากเกินไป การปลูกมันสำปะ -หลัง ในดินมีความเป็นด่างมากเกินไป (pH 7 ขึ้นไป) ทำให้ความเป็นประโยชน์ของธาตุพืชโดยเฉพาะ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และธาตุอาหารรองต่าง ๆ เช่น เหล็ก แมงกานีส โบรอน ทองแดง และสังกะสี จะถูกตรึงอยู่ในสารละลายดิน พืชใช้ประโยชน์ได้น้อยลง ขณะที่ทำให้มันสำปะหลังแสดงอาการขาดธาตุอาหารรอง แสดงอาการคลอโรซีล พืชขาดคลอโรฟิลล์ในการสังเคราะห์แสงเพื่อการเจริญเติบโตและการเคลื่อนย้ายอาหารไปสะสมในส่วนราก (หัว) ลดลงทำให้ได้ผลผลิตต่ำ ฉะนั้นในดินด่างเกษตรกรควรให้ความสนใจที่ปลูกพืชอื่นที่ทนต่อความเป็นด่าง เช่น ข้าวโพด อ้อย เพราะการปรับปรุงดินทำได้ยาก
2. ไม่ปลูกมันสำปะหลังในสภาพดินที่มีน้ำท่วมขัง ที่ผ่านมามันสำปะหลังมีราคาแพงทำให้เกษตรกรหันมาปลูกมันสำปะหลังกันมากขึ้น มีการปลูกมันสำปะหลังทั้งในสภาพพื้นที่ต่ำมีน้ำท่วมขัง หรือพื้นที่นาดอน ซึ่งเนื้อดินส่วนใหญ่เป็นดินเนื้อละเอียดสามารถอุ้มน้ำได้ดี การระบายน้ำยากกว่าดินเนื้อหยาบ พอถึงฤดูฝนมีน้ำท่วมขังหรือมีฝนตกมากทำให้เกตษรกรต้องขุดมันฯ เพื่อหนีน้ำ เพราะถ้าไม่รีบขุดน้ำท่วมขังเป็นเวลานานทำให้ หัวมันสำปะหลังเน่า ซึ่งบางครั้งมันฯอายุยังน้อย ทำให้ได้ผลผลิตต่ำ ส่งผลให้ผลผลิตเฉลี่ยทั้งประเทศต่ำลงไปด้วย
3. ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียว เนื่องจากการใช้ปุ๋ยเคมีเป็นเวลานานทำให้ดินขาดความสมดุลในส่วนของลักษณะทางเคมี กายภาพ และชีวภาพ ซึ่งแนวทางหนึ่งที่สามารถช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวคือ การใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งปุ๋ยอินทรีย์มีคุณสมบัติในการปรับโครงสร้างของดินทำให้เกิดสภาวะแวดล้อมที่เอื้อประโยชน์ในการใช้ธาตุอาหาร และปุ๋ยที่ใส่ให้กับมันสำปะหลัง ทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นซึ่ง สุรนัย และคณะ (2542) พบว่า การปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 72 โดยมีการใช้ปุ๋ยมูลไก่ 500 กิโลกรัมต่อไร่ร่วมกับปุ๋ยเคมี 50 กิโลกรัมต่อไร่ ให้ผลผลิตหัวสดสูงสุด 9,780 กิโลกรัมต่อไร่เมื่ออายุ 12 เดือน ซึ่งสอดคล้องกับวัลลีย์ และคณะ (2549) พบว่า การปลูกมันสำปะหลัง 4 พันธุ์ในชุดดินห้วยโป่ง โดยใส่ปุ๋ยมูลวัว 500 กิโลกรัมต่อไร่ในปีแรก และปีที่ 2 ใส่ปุ๋ยเคมี16-8-16 กิโลกรัมต่อไร่ของN-P2O5-K2O เพียงอย่างเดียว มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 5, ระยอง 72, ระยอง 9 และพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 ให้ผลผลิตหัวสด 8,149, 10,079, 7,659 และ 8,764 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่ออายุ 12 เดือน และมีเปอร์เซ็นต์แป้ง 26.0, 25.2, 32.6 และ 28.9 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ
4. ไม่เก็บเกี่ยวมันสำปะหลังอายุต่ำกว่า 1 ปีการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังที่มีอายุน้อย ขณะที่มันสำปะหลังกำลังเจริญเติบโต ทำให้มีการสะสมน้ำหนักของมันสำปะหลังที่หัวต่ำ เป็นผลให้มันสำปะหลังหัวเล็ก ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำด้วย การเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังที่อายุ 12 เดือน ก็จะมีผลให้การสะสมน้ำหนักในหัวมากขึ้น หัวมันฯ มีขนาดใหญ่ แต่ก็ไม่ควรปล่อยให้มันสำปะหลังมีอายุมากกว่า 18 เดือน เพราะจะทำให้หัวฝ่อแล้วเปอร์เซ็นต์แป้งก็จะลดลง (ตารางที่ 1)
ตารางที่ 1 แสดงผลผลิตหัวสด (ตันต่อไร่) เปอร์เซ็นต์แป้ง (%) และผลผลิตแป้งของมันสำปะหลัง 5 พันธุ์ ที่เก็บเกี่ยวอายุ 8 12 และ 18 เดือน
พันธุ์
|
ผลผลิตหัวสด ตัน/ไร่
|
% แป้ง (Lab)
|
ผลผลิตแป้ง ตัน/ไร่
|
อายุ 8 เดือน
ระยอง 9
ระยอง 5
ระยอง 72
ระยอง 90
เกษตรศาสตร์ 50
อายุ 12 เดือน
ระยอง 9
ระยอง 5
ระยอง 72
ระยอง 90
เกษตรศาสตร์ 50
อายุ 18 เดือน
ระยอง 9
ระยอง 5
ระยอง 72
ระยอง 90
เกษตรศาสตร์ 50
|
3.65
4.36
4.52
3.95
4.30
4.94
4.81
5.46
4.99
4.99
7.80
6.93
6.49
6.56
7.34
|
28.9
25.0
23.1
27.5
23.1
30.8
25.5
23.5
27.5
25.6
29.3
23.5
20.9
25.6
23.8
|
1.05
1.09
1.04
1.08
0.99
1.52
1.22
1.28
1.37
1.28
2.28
1.63
1.35
1.68
1.75
|
ที่มา : ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง (2548)
5. ไม่กำจัดวัชพืชตามใจชอบ เกษตรกรจะต้องให้ความสนใจ เรื่องการกำจัดวัชพืช และเข้าใจธรรมชาติของมันสำปะหลังด้วยว่ามันสำปะหลังต้องการปุ๋ย ที่อายุ 1 -2 เดือนหลังปลูก หากคิดว่าว่างเมื่อไหร่แล้วค่อยไปกำจัดวัชพืชการค่อยใส่ปุ๋ย นั้นย่อมทำให้มีการแข่งขันระหว่างต้นมันฯ กับวัชพืช หรือเมื่อมีการใส่ปุ๋ยแล้วปล่อยให้วัชพืชขึ้นมากยังไม่มีการจัดการ ทำให้มีการแข่งขันการใช้ปุ๋ยระหว่างมันฯกับวัชพืชมีมาก ทำให้ได้ผลผลิตลดลง เกษตรกรสามารถกำจัดวัชพืชโดยใช้แรงคนที่อายุ 30 วันหลังปลูก หรือ ใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชพาราควอท ฉีดพ่นเมื่อ อายุ 30 วันและ 60 วันหลังปลูก และใช้ไกลโฟเซต เมื่อมันสำปะหลังมีอายุมากขึ้น
6. ไม่จำเป็นต้องหาพันธุ์ใหม่ ๆ ตลอดเวลา มันสำปะหลังส่วนใหญ่ที่ผ่านการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร จะเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง มีทั้งพันธุ์ที่ปลูกได้ทั้งฤดูกาลปกติและมันฯเพื่อปลูกปลายฝน หรือเพื่อผลิตเอทานอล แต่พันธุ์เหล่านี้มีข้อจำกัดแตกต่างกัน เช่น บางพันธุ์ถ้าปลูกในสภาพแวดล้อมที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์สูง ไม่มีความสมดุลของธาตุอาหาร จะมีการเจริญเติบโตทางส่วนเหนือดินจะมากกว่าการสะสมน้ำหนักในส่วนใต้ดิน เช่น พันธ์ระยอง 9 หรือบางพันธุ์สามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ดีในสภาพที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ เช่น พันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 และก็มีบางพันธุที่สามารถสร้างหัวได้เร็ว เช่น พันธุ์ระยอง 5 ทั้งนี้เกษตรกรจะต้องพิจารณาเองว่า มันสำปะหลังพันธุ์เหล่านี้เหมาะสมที่จะปลูกในสภาพพื้นที่ของตัวเองหรือไม่ อาจจะทดลองปลูกในพื้นที่น้อย ๆ ก่อน ถ้าพันธุ์ใดเหมาะกับพื้นที่ของเราแล้วค่อยขยายพันธุ์เพิ่มในปีต่อไป ไม่จำเป็นที่จะต้องซื้อมันสำปะหลังพันธุ์ใหม่ซึ่งมีราคาแพง เนื่องจากพันธุ์มัน ฯ ที่ผ่านการรับรองใหม่ ๆ จะมีปริมาณน้อย ซึ่งเป็นกฎของอุปสงค์และอุปทาน และถ้าหากว่าราคาของมันสำปะหลังในปีถัดไปถูกลง นั้นย่อมทำให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังขาดทุน เนื่องจากมีต้นทุนเพิ่มในการซื้อท่อนพันธุ์ และมันสะปะหลังแต่ละพันธุ์อาจจะเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน
7. ราคามันสำปะหลังต้องไม่ต่ำกว่า 1.50 บาทต่อกิโลกรัม ราคาของมันสำปะหลังเป็นปัจจัยที่สำคัญเป็นอันดับแรกที่จะต้องคำนึงถึง ทั้งนี้การเพิ่มผลผลิตมันฯ โดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมีเกษตรกรจะต้องมีการลงทุนเพิ่ม แต่ก็ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นคุ้มกับการลงทุน ถ้ามีการประกันราคาของผลผลิต
จะเห็นได้ว่าการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังให้สูงขึ้นนั้นไม่ยาก ซึ่งศักยภาพของมันสำปะหลังมีอยู่แล้วเพียงแต่ว่าเกษตรกรต้องเข้าใจธรรมชาติ และความต้องการของมันฯ แล้วก็จะจัดการได้อย่างถูกต้องการเพิ่มผลผลิตจึงง่ายนิดเดียว
----------------------------------
กสิกร ปีที่ 79 ฉบับที่ 5 กันยายน – ตุลาคม 2549
วัลลีย์ อมรพล
ไชยยศ เพชระบูรณิน
ผู้เขียน
|