ราคามันสำปะหลัง
ราคาหัวมันสด/มันเส้น (นครราชสีมา) 
ราคามันเส้น/โกดังส่งออก (อยุธยา) 
ราคามันเส้น (กรมการค้าภายใน)
การส่งออกมันเส้น/มันอัดเม็ด (สภาหอการค้าฯ) 
		
		
ชื่อ Admin

รหัสผ่าน :


 
 
 
 
 




จากโครงการมันสำปะหลังเพื่อเอทานอล สู่เกษตรกรนักวิจัย

อังคาร ที่ 19 เดือน สิงหาคม พ.ศ.2551


จากโครงการมันสำปะหลังเพื่อเอทานอล สู่เกษตรกรนักวิจัย
 
        สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 กรมวิชาการเกษตร ได้ดำเนินงานโครงการความร่วมมือภาครัฐและเอกชนโดยเกษตรกรเป็นศูนย์กลางเพื่อพัฒนาการผลิตมันสำปะหลังสู่อุตสาหกรรมเอทานอล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการทำงานแบบบูรณาการระหว่างภาครัฐ คือ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 กรมวิชาการเกษตร ภาคเอกชน คือ โรงงานไท้ง้วนเอทานอล จำกัด ซึ่งตั้งอยู่กิ่งอำเภอโนนศิลา จังหวัดขอนแก่น และเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในรัศมี 50 กิโลเมตรรอบโรงงาน อาจจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและเสถียรภาพการผลิตมันสำปะหลังให้แก่เกษตรกร ตลอดจนทำให้โรงงานได้วัตถุดิบที่มีปริมาณและคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการ โดยอาศัยเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลังของกรมวิชาการเกษตรและของเกษตรกร
 
การดำเนินงานมีขั้นตอนดังนี้
1. กำหนดพื้นที่เป้าหมายโดยยืดตามเขตเกษตรเศรษฐกิจ สำหรับมันปะหลัง เน้นพื้นที่ปลูกที่มีศักยภาพในการผลิตในเขตรัศมี 50 กิโลเมตร รอบโรงงาน ประกอบด้วยตำบลเป้าหมาย 22 ตำบล

2. คัดเลือกเกษตรกรที่มีประสบการณ์ในการปลูกมันสำปะหลังของแต่ละหมู่บ้าน หมู่บ้านละไม่ต่ำกว่า 10 คนที่เป็นตัวแทนของตำบลเป้าหมาย เข้าร่วมประชุมเสวนาโดยการประสานงานกับผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่

3. จัดประชุมเสวนากลุ่มเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ เพื่อร่วมกันวิเคราะห์วิธีการผลิตในพื้นที่นั้นๆ ปัญหาการผลิต ต้นทุน และผลตอบแทน ตลอดจนวิเคราะห์ทางเลือกที่เป็นไปได้ในการแก้ปัญหา รวมทั้งแนวทางการเพิ่มผลผลิตจากภูมิปัญญาของเกษตรกร จากคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งได้รับสมัครเกษตรกร เพื่ออาสาทำแปลงทดสอบตามแนวทางที่ได้จากการประชุมเสวนา โดยเกษตรกรเป็นผู้ดำเนินการด้วยตนเอง เจ้าหน้าที่ของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 เป็นเพียงผู้ประสานงานและให้ข้อมูลทางวิชาการ ปัญกาหารผลิตที่ยังไม่มีวิธีแก้ปัญหา จะเป็นโจทย์วิจัยต่อไป
 
       จากการวิเคราะห์ข้อมูลการจัดเวทีเสวนาเกษตรกร สามารถสรุปประเด็นปัญหาและแนวทางแก้ไขเพื่อสร้างเทคโนโลยีการผลิตใหม่ได้หลายประเด็น ซึ่งหนึ่งในโจทย์วิจัย คือ ขาดพันธุ์มันสำปะหลังที่เหมาะสมกับพื้นที่ ดังนั้น เจ้าหน้าที่ของศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น จึงได้นำสายพันธุ์มันสำปะหลังใหม่ คือ CMR 35-64-1 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่พัฒนาโดยนักวิจัยของศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง ซึ่งมีลักษณะให้ผลผลิตและเปอร์เซ็นต์เอทานอลสูงกว่าพันธุ์ระยอง 90 และเกษตรศาสตร์ 50 มาร่วมทดสอบ เพื่อประเมินผลผลิตและการยอมรับของเกษตรกรโดยเจ้าหน้าที่ของศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 เป็นพี่เลี้ยงแนะนำข้อมูลทางวิชาการ และการบันทึกข้อมูล และยังได้กระตุ้นให้เกิดการรวมกลุ่มผู้ปลูกมันสำปะหลังในระดับหมู่บ้านและตำบลขึ้น นอกจากนี้ยังได้ประสานให้มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องมันสำปะหลัง โดยอาศัยแปลงทดสอบเป็นแปลงเรียนรู้ระหว่างเกษตรกรและระหว่างเกษตรกรกับเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตร ดังกรณีตัวอย่าง 2 กรณี คือ
 
แปลงนางอุไร ใจไธสง เกษตรกรอาสาบ้านขอนสัก ตำบลโนนศิลา กิ่งอำเภอโนนศิลา จังหวัดขอนแก่น   
       ได้เป็นเจ้าภาพจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในแปลงทดสอบมันสำปะหลังระหว่างสมาชิกเกษตร 2 ตำบล คือ ตำบลโนนศิลา และตำบลบ้านหัน รวม 17 คน เจ้าหน้าที่ส่งเสริม และเจ้าหน้าที่ของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 รวม 4 คน โดยนางอุไร ใจไธสง เป็นผู้บรรยายขั้นตอนการปฏิบัติและดูแลรักษาแปลงทดสอบ ตลอดจนบรรยายถึงประสบการณ์ในการปลูกมันสำปะหลังของตนเองให้กับเกษตรกรที่ร่วมเสวนา เกษตรกรต่างได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ตัวอย่างข้อมูลที่ได้จากประสบการณ์ของเกษตรกรที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เช่น

- การปลูกมันสำปะหลัง ถ้าจะให้งอกดีและสม่ำเสมอ ควรแช่ท่อนพันธุ์ในน้ำผสมฮอร์โมนเร่งราก ประมาณ 1 ชั่วโมง
- การแก้ปัญหาหัวมันสำปะหลังเน่า โดยใช้รถแทรกเตอร์ยกร่องปลูก
- การใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยพืชสดบำรุงดินในพื้นที่ที่ปลูกมันสำปะหลังซ้ำที่เดิมทุกปี จะทำให้ผลผลิตไม่ลดลง
 
แปลงนายโชคชัย แก้วหนองแก เกษตรกรอาสาบ้านวังผือ ตำบลขามป้อม อำเภอเปือยน้อย จังหวัดขอนแก่น
     
ได้เป็นเจ้าภาพจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในแปลงทดสอบมันสำปะหลังระหว่างเกษตรกร 4 คน เจ้าหน้าที่ของสำนักวิจัยและพัฒนาเขตที่ 3 และศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น นครราชสีมา อุบลราชธานี และศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตกาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม มุกดาหาร และบุรีรัมย์ รวม 15 คน โดยนายโชคชัย แก้วหนองแก เป็นผู้บรรยายขั้นตอนการปฏิบัติและดูแลรักษาแปลงทดสอบ ตลอดจนประสบการณ์ในการปลูกมันสำปะหลังของตนเองให้กับเกษตรกรที่ร่วมเสวนา และได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันละกันระหว่างเกษตรกร และระหว่างเกษตรกรกับเจ้าหน้าที่ตัวอย่าง ข้อมูลลักษณะของพันธุ์จากแปลงทดสอบที่นายโชคชัยให้ข้อมูลแก่เกษตรกร และเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตร ดังตาราง
 
ข้อมูลลักษณะพันธุ์จากแปลงทดสอบ
พันธุ์
ข้อดี
ข้อเสีย
1. ระยอง 90

2. CMR 35-64-1
3. เกษตรศาสตร์
50
4. ห้วยบง 60
เปอร์เซ็นต์แป้งสูง และการลงหัวดี

เปอร์เซ็นต์ความงอกสูง และโตเร็ว
โตเร็ว คลุมหญ้าได้ดี และเปอร์เซ็นต์ แป้งสูง
เปอร์เซ็นต์งอกสูง และท่อนพันธุ์เก็บได้นาน
งอกช้า ท่อนพันธุ์เก็บไว้ได้ไม่นาน
และถอนยาก
เพิ่งปลูกครั้งแรก รอการเก็บเกี่ยว
ลงหัวช้า
โตช้าในช่วงแรก
       จากการใช้แปลงทดสอบเป็นแปลงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ระหว่างเกษตรกรกับเกษตรกร ระหว่างเกษตรกรกับเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร ทำให้ได้มุมมองทั้งสองฝ่าย ดังนั้น
 
  มุมมองของเกษตรกร
1. เกษตรกรประทับใจกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการใช้สภาพแปลงทดสอบเป็นเวทีเสวนา เพราะได้เรียนรู้จากข้อมูลจริง
2. อยากให้มีการเสวนาเช่นนี้เป็นระยะ ๆ และอยากให้จัดเวทีเช่นนี้กับแปลงทดสอบอื่น ๆ ที่มีลักษณะแตกต่างกัน
3. เกษตรกรยอมรับการทำงานของเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตร
มุมมองของเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตร
1. เป็นลักษณะการทำงานที่ดี ทำให้ทราบปัญหาการปลูกมันสำปะหลังของเกษตรกรอย่างแท้จริง
2. สามารถเปลี่ยนแนวคิดของเกษตรกรจากการรอแต่ความช่วยเหลือจากภาครัฐ เป็นการรู้จักตนเอง และวิธีวิเคราะห์ปัญหา และใช้ความคิดในการแก้ปัญหา

3. เกษตรกรรู้จักการรวมกลุ่ม และใช้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากภูมิปัญญาของเเกษตรกรและวิชาการของกรมวิชาการเกษตร เพื่อแก้ปัญหาการปลูกมันสำปะหลังของกันและกัน โดยเจ้าหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงทางวิชาการ
 
ผลที่ได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
1. ได้ประเด็นปัญหาการปลูกมันสำปะหลัง ทั้งเกษตรกร เจ้าหน้าที่ นักวิชาการเกษตร และการใช้ความรู้จากภูมิปัญญาของเกษตรกร หรือผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรไปช่วยแก้ปัญหาการผลิต หรือเป็นโจทย์วิจัยของนักวิชาการเกษตรต่อไป
2. เกษตรกรได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ ภูมิปัญญา และวิชาการใหม่ ๆ ของกรมวิชาการเกษตร เพื่อนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับเกษตรกรแต่ละราย
3. เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร และรู้จักวิธีการพึ่งตนเอง โดยอาศัยฐานความรู้
4. สร้างเกษตรกรนักวิจัย เพื่อเป็นตัวแทนในพื้นที่ในการทำแปลงทดสอบเทคโนโลยีใหม่ ๆ ของกรมวิชาการเกษตรอย่างต่อเนื่อง อันจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร นำผลฝานวิจัยไปใช้ประโยชน์ เพิ่มผลผลิตและคุณภาพ ตลอดจนลดต้นทุนการผลิตและยังเป้นการเผยแพร่ผลงานวิจัยของกรมวชิาการเกษตรแก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง
5. มีการขยายเครือข่ายจากกลุ่มเกษตรกรที่ร่วมโครงการไปยังเกษตรกรอื่น ๆ หรือกลุ่มเกษตรกรอื่น อันจะช่วยเผยแพร่ผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรไปในวงกว้างยิ่งขึ้น
 
โครงการนี้คงเป็นตัวอย่างที่ดีโครงการหนึ่ง สำหรับนักวิจัยเพราะงานวิจัยควรจะต้องมาจากปัญหาของเกษตรกรและผลงานวิจัยจะต้องตอบสนองความต้องการเกษตรกรได้อย่างแท้จริง

-------------------------------------
คุณวรยุทธ ศิริชุมพันธ์
คุณทองปูน ประทุมรุ่ง
ผู้เขียน
จากจดหมายข่าวผลิใบ ปีที่ 8 ฉบับที่ 3