เปิดตัว “ไอยรา คลัสเตอร์” ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ ARM ประหยัดพลังงานสำหรับ Big Data ตัวแรกของไทย

ศูนย์บรรณสาร

มทส. เจ๋ง เปิดตัว “ไอยรา คลัสเตอร์”

ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ ARM ประหยัดพลังงานสำหรับ Big Data ตัวแรกของไทย

 

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เปิดตัวซุปเปอร์คอมพิวเตอร์เคลื่อนที่สัญชาติไทย ‘มทส. ไอยรา คลัสเตอร์’ ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ ARM ประหยัดพลังงาน สำหรับประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ พัฒนาโดยฝีมือคนไทยสำเร็จเป็นตัวแรกของประเทศ เพิ่มศักยภาพในการสนับสนุนงานวิจัย ลดเวลาการทำงาน พร้อมมุ่งขยายผลสู่การนำไปใช้เชิงพาณิชย์ ลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ

นครราชสีมา : วันนี้ (4 เมษายน 2557) ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี รองศาสตราจารย์ ร.อ. ดร.กนต์ธร ชำนิประศาสน์ คณบดีสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ พร้อมด้วย   ทีมพัฒนา อาจารย์วิชัย ศรีสุรักษ์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาญวิทย์ แก้วกสิ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ แถลงเปิดตัว ‘มทส. ไอยรา คลัสเตอร์’ ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ใช้บอร์ดประมวลผล ARM สำหรับประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ตัวแรกของประเทศไทย ณ ห้องสารนิเทศ อาคารบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา

ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดี มทส. กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้ประกาศตัวเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการสร้างสรรค์นวัตกรรม ซึ่งการเปิดตัว ‘มทส. ไอยรา คลัสเตอร์’ ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ ในวันนี้ ถือเป็นนวัตกรรมด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ฝีมือคนไทย โดยทีมพัฒนาซึ่งเป็นคณาจารย์จากสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ของ มทส. มีจุดเด่นในด้านการประหยัดพลังงาน ต้นทุนต่ำ ออกแบบเพื่อประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data ได้โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนสร้างศูนย์ข้อมูล หรือ Data Center ซึ่งมีราคาแพง ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายถึง 90% ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกิจสัมพันธ์กับองค์กรชุมชน มหาวิทยาลัยพร้อมที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการในเชิงพาณิชย์ โดยสนับสนุนทางเทคนิคทั้งระดับฮาร์ดแวร์และซอฟแวร์ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันในตลาด Big Data เพราะ ‘มทส. ไอยรา คลัสเตอร์’ จะช่วยลดต้นทุนด้านฮาร์ดแวร์ สร้างความแตกต่างด้านซอฟแวร์ และเสริมความแข็งแกร่งด้านการให้บริการ ตัวอย่างแนวทางการประยุกต์ใช้ Big Data ในธุรกิจทั่วไป เช่น การจัดกลุ่มลูกค้าเพื่อแนะนำสินค้าหรือบริการที่น่าสนใจ การทำนายแนวโน้มต่างๆ ของผลิตภัณฑ์ สำหรับการประยุกต์ทางวิศวกรรม เช่น ใช้คลัสเตอร์ช่วยประมวลผลข้อมูลที่เก็บจากเซ็นเซอร์จำนวนมากๆ เพื่อช่วยเฝ้าระวังสถานะของโครงสร้างพื้นฐาน ใช้ทำนายสถานะของโครงสร้างหรือวัสดุ นอกจากนี้ ยังสามารถนำคลัสเตอร์ไปประยุกต์ใช้ในงานวิจัยต่างๆ ได้เป็นอย่างดี”


รองศาสตราจารย์ ร.. ดร.กนต์ธร ชำนิประศาสน์ คณบดีสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มทส. เผยถึงงานวิจัยนี้ว่า “แม้ว่าจะมีการสร้างซุปเปอร์คอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์กันอย่างแพร่หลาย แต่ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรมไอทีตื่นตัวมากขึ้นด้านการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจของผู้บริหารและปรับตัวตามตลาดให้ทันเวลา โดยซอฟต์แวร์ Big Data ที่แพร่หลายมีชื่อว่า Apache Hadoop ซึ่งคาดหวังว่าเทคนิคทางการประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ หรือ Cloud Computing จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการสร้างศูนย์ข้อมูลขึ้นเอง อย่างไรก็ตาม องค์กรต่าง ๆ ยังเกิดความกังวลในประเด็นการนำข้อมูลที่สำคัญออกไปประมวลผลบนเครื่องในกลุ่มเมฆภายนอกองค์กร ทำให้แนวคิดการสร้างซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ราคาถูกและใช้ได้ทั่วไปในระดับองค์กรเป็นทางเลือกที่ดีกว่า มทส. จึงได้พัฒนา ‘มทส. ไอยรา คลัสเตอร์’ เป็นซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ ARM ประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ สำเร็จเป็นตัวแรกของประเทศไทย ซึ่งนอกจากมีศักยภาพในการใช้งานในอุตสาหกรรมไอทีแล้ว ยังสามารถสนับสนุนงานวิจัยเชิงคำนวณ ช่วยงานด้าน Finite Elements และงาน Computer Aided Engineerings (CAE) ของนักวิจัย เพิ่มความถูกต้องแม่นยำ ในขณะที่ใช้เวลาในการทำงานลดลงอย่างมากอีกด้วย"




อาจารย์วิชัย ศรีสุรักษ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มทส
. หนึ่งในทีมพัฒนา กล่าวด้วยว่า “'มทส. ไอยรา คลัสเตอร์' เป็นซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ใช้บอร์ดประมวลผล ARM จำนวน 22 โหนด สำหรับประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ เนื่องจากหน่วยประมวลผลที่ใช้เป็นชนิดเดียวกันกับที่ใช้ในโทรศัพท์ Smart Phone ทั่วๆ ไป ทำให้ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ที่สร้างขึ้นนี้ มีจุดเด่นในเรื่องประหยัดพลังงาน ทำงานได้ในอุณหภูมิห้อง หรือ 25 องศาเซลเซียส สามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวก ราคาถูก โดยมีค่าใช้จ่ายรวมแค่ 10% เมื่อเทียบกับการลงทุนสร้างศูนย์ข้อมูล หรือ Data Center ที่มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท ทั้งนี้ ตัวฮาร์ดแวร์ของ 'มทส. ไอยรา คลัสเตอร์' เราสร้างขึ้นมาจากอุปกรณ์เท่าที่มีในห้องปฏิบัติการ และเมื่อรวมกับเทคนิคทางวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ก็สามารถประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ” 




ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร
.ชาญวิทย์ แก้วกสิ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มทส. กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า “'มทส. ไอยรา คลัสเตอร์' ตัวต้นแบบมีความเร็วรวม 20 GHz มีหน่วยความจำรวมขนาด 20 GB สามารถประมวลผลข้อมูล Wikipedia ภาษาอังกฤษทั้งหมดโดยไม่แบ่งเป็นไฟล์ย่อยเสร็จภายใน 1 ชั่วโมง 50 นาที ซึ่งหากเป็นการประมวลผลด้วยบอร์ด ARM แบบเครื่องเดี่ยว จะใช้เวลามากกว่า 33 ชั่วโมง จากการประมวลผลทำให้ทราบว่าในปี 2555 มีคำว่า 'the' อยู่บน Wikipedia มากกว่า 126 ล้านคำ ขณะประมวลผล Wikipedia ทั้ง 22 โหนด กินไฟไม่ถึง 150 วัตต์ คิดเป็นค่าไฟฟ้าไม่ถึง 15 บาท เมื่อเปิดใช้งานตลอดทั้งวัน สำหรับประเด็นหลักที่ทำให้สามารถประมวลผล Big Data ได้ คือการใช้หลักการทางวิศวกรรมค่อยๆ ปรับให้ซอฟต์แวร์เข้ากับฮาร์ดแวร์ของคลัสเตอร์”

 

สำหรับก้าวต่อไป ทีมพัฒนา 'มทส. ไอยรา คลัสเตอร์" เตรียมสร้างซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ ARM ที่มีสมรรถนะสูงขึ้นไปอีกขั้นแต่ยังคงประเด็นความประหยัดพลังงาน เพื่อเตรียมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสสถาปนามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีครบ 25 ปี ในปี 2558 นี้

รายละเอียดเพิ่มเติม'มทส. ไอยรา คลัสเตอร์"  http://www.facebook.com/SUTAiyaraCluster
ชมภาพการแถลงข่าวเพิ่มเติม http://www.facebook.com/media/set/?set=a.756132851066110.1073742059.120810127931722
 



 

 



ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง