อธิการบดีและคณะเข้าศึกษาดูงานด้านการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ และธรรมชาติวิทยา (California Academy of Sciences) ประเทศสหรัฐอเมริกา

อธิการบดีและคณะเข้าศึกษาดูงานด้านการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ และธรรมชาติวิทยา ณ California Academy of Sciences นครซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา

 

วันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม  2560 ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) พร้อมด้วยผู้บริหาร ประกอบด้วย รองอธิการบดีฝ่ายวางแผน ผู้อำนวยการเทคโนธานี รองผู้อำนวยการเทคโนธานีฝ่ายพันธกิจสัมพันธ์ ผู้จัดการสำนักงานอุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม หัวหน้าส่วนแผนงาน ผู้บริหารกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ ผู้บริหารสำนักงบประมาณ ได้เดินทางเข้าศึกษาดูงานด้านการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และธรรมชาติวิทยา ณ California Academy of Sciences ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และธรรมชาติวิทยาชั้นนำที่มีขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของโลก และเป็นสถาบันวิจัยทางด้าน Biodiversity and Sustainability ที่สำคัญของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ของ California Academy of Sciences ประกอบไปด้วยโดมแก้วขนาดใหญ่ ภายในโดมนี้เป็นสถานที่จำลองระบบนิเวศวิทยาของป่าเขตร้อน (Rainforest) ประกอบไปด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิดจากป่าเขตร้อน ผีเสื้อนานาพันธุ์ และสัตว์หลากหลายชนิดจากป่าเขตร้อน ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ยังมีพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ (Aquarium) ขนาดใหญ่ที่รวบรวมสัตว์น้ำนานาพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธุ์สัตว์น้ำจากชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก และท้องฟ้าจำลอง (Planetarium) ซึ่งเป็นโดมขนาดใหญ่ภายในตัวอาคารของ California Academy of Sciences ซึ่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 27.5 เมตร นอกจากนี้ในพิพิธภัณฑ์นี้ยังมีนิทรรศการเพื่อให้ความรู้และสร้างความตระหนักเกี่ยวกับภัยแผ่นดินไหว และห้องจำลองสถานการณ์เหตุการณ์แผ่นดินไหวเสมือนจริง ซึ่งตามประวัติศาสตร์ ในช่วง 100 กว่าปีที่ผ่านมา นครซานฟรานซิสโกเคยประสบเหตุภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างมากมายถึงสองครั้งโดยเกิดขึ้นในปี ค.ศ.1906 และ 1989

การเข้าศึกษาดูงานด้านการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ และธรรมชาติวิทยา ณ California Academy of Sciences ครั้งนี้ มทส. และ เทคโนธานี สามารถนำเอาองค์ความรู้ที่ได้มาปรับใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาอุทยานการเรียนรู้สิรินธร ซึ่งประกอบไปด้วยอุทยานผีเสื้อเฉลิมพระเกียรติ พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีไทยโบราณ สวนพฤษศาสตร์ มทส. เพื่อให้สามารถพัฒนาเป็นแหล่งการเรียนรู้ทางธรรมชาติวิทยาที่สำคัญของภูมิภาค

: ข่าวโดย ผศ.ดร.พงษ์ชัย จิตตะมัย


ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง