“รัชดา มทส.” 25 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

“รัชดา มทส.” 25 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น “มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ” แห่งแรกของประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2533 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มทส. มุ่งมั่นพัฒนาในทุกภารกิจ ซึ่งปรากฏสัมฤทธิผลเป็นที่ประจักษ์อย่างต่อเนื่อง จนก้าวมาครบ 25 ปี แห่งการสถาปนา ที่เรียกว่า “ปีรัชดา มทส. หรือ SUT Silver Jubilee” ในปีนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้เผยถึงภารกิจและสัมฤทธิผลของการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการสร้างสรรค์นวัตกรรม ควบคู่ไปกับการยืนหยัดเป็นสถาบันคู่เคียงและเป็นที่พึ่งของสังคม

25 ปี แห่งการสร้างสรรค์นวัตกรรมในวงการอุดมศึกษา

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐแห่งแรกของประเทศไทย จากความคล่องตัวด้านการบริหารจัดการ ทำให้มหาวิทยาลัยรุดหน้าในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี จนได้รับเลือกเป็น “1 ใน 9 มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ” เป็นมหาวิทยาลัยดีเลิศด้านการวิจัยและดีเยี่ยมด้านการเรียนการสอน ผลการประเมินการประกันคุณภาพการศึกษาภายใน ตามกรอบสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ 4.83 และ 4.86 ในปี 2555 และ 2556 ตามลำดับ ผลการประกันคุณภาพการศึกษาภายนอก ตามกรอบสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. ได้ 4.76 และ 4.74 ในการประเมินรอบที่ 2 และรอบที่ 3 ตามลำดับ โดยมีผลการประเมินระดับดีมาก อันดับ 1 ของมหาวิทยาลัยของรัฐ และอันดับ 2 ของประเทศ ในกลุ่มมหาวิทยาลัยที่เน้นการผลิตบัณฑิตและวิจัย จากการประเมินคุณภาพภายนอกสถาบันอุดมศึกษา รอบสอง

มทส. เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งแรกที่ประกาศตัวเป็น “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี” เน้นการเรียนการสอนและการวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญาตรี – โท – เอก ปัจจุบันมี 7 สำนักวิชา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีการเกษตร เทคโนโลยีสังคม พยาบาลศาสตร์แพทยศาสตร์ และทันตแพทยศาสตร์ ผลิตบัณฑิตปีละประมาณ 2,500 คน บัณฑิตมีอัตราการได้งานทำและศึกษาต่อสูงถึงร้อยละ 96 รวมทั้งอัตราเงินเดือนมีค่าเฉลี่ยสูงเป็นอันดับต้นของประเทศ

มทส. เป็นต้นแบบและผู้นำด้านสหกิจศึกษาของไทย โดยนำระบบสหกิจศึกษามาใช้เป็นแห่งแรกของประเทศ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของบัณฑิตให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ปัจจุบัน มทส. เป็นสมาชิกระดับ “เงิน (Silver)” ของสมาคมสหกิจศึกษาโลก และยังเป็น 1 ใน 2 สถาบัน ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นสำนักงานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของสมาคมสหกิจศึกษาโลก หรือ WACE International Satellite Office (WACE ISO@SUT) ที่สำคัญ มทส. ยังเปิดหลักสูตรสหกิจศึกษาบัณฑิตศึกษา ระดับปริญญาโทและเอกขึ้นเป็นแห่งแรกของโลก เพื่อพัฒนาบุคลากรและการจัดสหกิจศึกษาของประเทศ ตลอดจนพัฒนาความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาในกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อสนับสนุนสหกิจศึกษานานาชาติ ที่ผ่านมา มทส. ได้รับรางวัลระดับชาติทั้งการเป็นสถานศึกษาดำเนินงานสหกิจศึกษาดีเด่น สถานศึกษาดำเนินงานสหกิจศึกษานานาชาติดีเด่นผู้บริหารสหกิจศึกษาในสถานศึกษาดีเด่น และนักศึกษาสหกิจศึกษานานาชาติดีเด่น

นอกจากนี้ มทส. ยังเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศ ที่มีตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายพันธกิจสัมพันธ์กับองค์กรชุมชน โดยปรับเปลี่ยนแนวทางการให้บริการวิชาการแก่สังคมไปสู่แนวคิดและหลักการ “พันธกิจสัมพันธ์” (University Engagement) และ กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) เพื่อยืนยันความเป็นสถาบันคู่เคียงและเป็นที่พึ่งของสังคมอย่างแท้จริง โดยมีโครงการต่าง ๆ ที่นำการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ การปรับแปลง ถ่ายทอด และพัฒนาเทคโนโลยี ไปร่วมคิดร่วมทำกับองค์กรชุมชน อาทิ การจัดสหกิจศึกษา การพัฒนาศักยภาพนักกีฬาเรือพายและนักกีฬาฟุตบอลสโมสรสวาทแคท การจัดตั้งโรงเรียนสุรวิวัฒน์ การพัฒนาฝีมือแรงงาน “ซุปเปอร์ช่าง” การจัดการขยะชุมชนแบบครบวงจร การบริหารจัดการลุ่มน้ำมูล สถานีวิจัยเกษตรวังน้ำเขียว การพัฒนาสายพันธุ์ไก่เนื้อโคราชโดยสนับสนุนเกษตรกรเป็นผู้เลี้ยง โครงการโคเนื้อโคราชวากิวกับกลุ่มสหกรณ์ผู้เลี้ยง เป็นต้น รวมไปถึงพันธกิจสัมพันธ์กับองค์กรนานาชาติ ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก คือ มทส. เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียนที่มีข้อตกลงทางวิชาการ กับ ALICE (A Large Ion Collider Experiment) และความร่วมมือกับองค์กรเพื่อการวิจัยนิวเคลียร์แห่งยุโรป หรือ เซิร์น (CERN)

25 ปี แห่งการสร้างสรรค์งานวิจัยเพื่อสังคม

มทส. เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ มีคณาจารย์ที่มีคุณวุฒิปริญญาเอกมากถึงร้อยละ 82 ซึ่งมีงานวิจัยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารและถูกนำไปประยุกต์ใช้ในด้านต่าง ๆ เมื่อคิดสัดส่วนผลงานวิจัยต่ออาจารย์ มทส. เป็นอันดับหนึ่งของประเทศ จากผลการประเมินศักยภาพรายสาขาวิชาด้านการวิจัย โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สาขาวิชาฟิสิกส์ มทส. ได้รับผลการประเมินระดับดีเยี่ยม เป็นอันดับ 1 ของประเทศ ต่อเนื่องกัน 6 ปีซ้อน และอีก 9 สาขาวิชาได้ระดับดีมาก ได้แก่ คณิตศาสตร์ เคมี ชีวเคมี วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมโทรคมนาคม วิศวกรรมโยธา เทคโนโลยีการผลิตสัตว์ เทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีอาหาร

ผมพูดตลอดเวลาว่า “ปัญหาของสังคมคือโจทย์วิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งนี้” และเน้นนโยบาย “จากหิ้งลงสู่ห้าง” นำผลงานวิจัยไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ เชิงอุตสาหกรรม หรือสร้างประโยชน์สู่เกษตรกรในวงกว้าง และตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนได้จริง เช่น เทคโนโลยีการกำจัดมอดข้าวด้วยคลื่นความถี่สูงที่ลดใช้สารเคมีในอุตสาหกรรมข้าวได้อย่างยั่งยืน เทคโนโลยีการจัดการขยะครบวงจร การแปลงขยะให้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิง นวัตกรรมวัสดุมวลเบาแนวใหม่เพื่องานก่อสร้าง การพัฒนาไม้เชิงวิศวกรรมสมรรถนะสูง สุคนธบำบัดเฟอร์นิเจอร์เส้นหวายประดิษฐ์ บรรจุภัณฑ์พอลิเมอร์ชีวภาพสำหรับการบรรจุร้อนและแช่เยือกแข็ง ระบบอิเล็กโตรสปินนิงประสิทธิภาพสูง การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร การทำนาแบบ มทส. 1 ไร่ 1 แสน มันสำปะหลัง 10 เดือน 10 ตัน การใช้เชื้อแบคทีเรียที่มีประโยชน์สร้างภูมิต้านทานมันสำปะหลังต้านทานโรคใบไหม้ องค์ความรู้ใหม่ด้านจีโนมของปุ๋ยชีวภาพเพื่อพัฒนาการผลิตข้าวไทย เทคโนโลยีโคลนนิ่ง การพัฒนาสายพันธุ์ไก่เนื้อโคราช วัวพันธุ์โคราชวากิวที่คุณภาพเนื้อทัดเทียมกับญี่ปุ่น นมเบดไทม์มิลค์ รวมไปถึง การคิดค้นระบบคลาวด์เชิงผสมข้ามแพล็ตฟอร์ม เป็นครั้งแรกของโลกและเปิดเผย Source Code ให้นักพัฒนาทั่วโลกนำไปใช้งานได้ฟรี


 

25 ปี พร้อมศักยภาพหนุนโคราชเป็นศูนย์กลาง AEC

          ปลายปี พ.ศ. 2558 ที่จะถึงนี้ เราจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ด้วยศักยภาพและความเข้มแข็งด้านวิชาการของมหาวิทยาลัย พร้อมที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้จังหวัดนครราชสีมาเป็นศูนย์กลาง หรือ Hub 5 ด้าน คือ ศูนย์กลางการศึกษา (Education Hub) ไม่เฉพาะระดับอุดมศึกษาเท่านั้น แต่จะเชื่อมเสาหลักอื่น ๆ ได้แก่ อาชีวศึกษาและการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วย ศูนย์กลางทางการรักษา (Medical Hub) มทส. มีโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ รองรับงานวิจัยเกี่ยวกับการแพทย์และให้บริการแก่พี่น้องประชาชน พร้อมทั้งมีสาขาวิชาผลิตแพทย์ ทันตแพทย์ และพยาบาลออกไปรับใช้สังคม ศูนย์กลางการขนส่ง (Transportation Hub) มทส. มีสาขาวิชาวิศวกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ วิศวกรรมอากาศยาน เทคโนโลยีการจัดการ ผลิตกำลังคนรองรับการขยายตัวด้านคมนาคมขนส่งทางบกและอากาศ รวมถึงอุตสาหกรรมการบิน การซ่อมสร้างอากาศยาน เป็นต้น นอกจากนี้ เทคโนโลยีการเกษตรและเทคโนโลยีอาหารของ มทส. มีความพร้อมที่จะเป็นสถาบันหลักในการทำงานวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมอาหาร รองรับการเป็นศูนย์กลางด้านอาหาร (Food Hub) หรือ Food Valley ของประเทศไทยได้ และการเป็นศูนย์กลางด้านกีฬา (Sport Hub) ซึ่ง มทส. และจังหวัดนครราชสีมา มีความพร้อมด้านสนามกีฬาขนาดใหญ่ คือ สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาหลายรายการ อาทิ การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ในปี 2550 การแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ในปี 2557 เป็นต้น

 

กิจกรรมเฉลิมฉลองในโอกาส 25 ปี มทส.  

 การเฉลิมฉลอง มทส. ครบ 25 ปี เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2557 ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2558 โดยช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ได้จัดกิจกรรมหลากหลายทั้งในระดับชาติและนานาชาติ อาทิ การเป็นเจ้าภาพร่วมกับจังหวัดนครราชสีมาจัดการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 43 “นครราชสีมาเกมส์'' และการแข่งขันกีฬาคนพิการแห่งชาติ ครั้งที่ 33 “โคราชเกมส์'' การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ในโรงเรียน ครั้งที่ 22 (วทร. 22) การเป็นเจ้าภาพในนามประเทศไทยจัดการแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์นานาชาติ (International Young Physicists' Tournament: IYPT 2015) เป็นต้น

สำหรับในเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งเป็นเดือนสถาปนามหาวิทยาลัย มีกิจกรรมที่พี่น้องประชาชนจะได้มีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดและรู้จัก มทส. มหาวิทยาลัยของท่านมากยิ่งขึ้น อาทิ นิทรรศการ “25 ปี มทส. มหาวิทยาลัยแห่งการสร้างสรรค์นวัตกรรมและเป็นที่พึ่งของสังคม” ในวันที่ 14 - 15 กรกฎาคม ณ ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ นครราชสีมา เป็นการโหมโรงต่อเนื่องไปถึง นิทรรศการแสดงสุดยอดผลงานวิจัยและนวัตกรรมเด่น มทส. เพื่อสังคม ภายใต้แนวคิด Life@SUT การแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยและนานาชาติ พร้อมด้วยมหกรรมสินค้าธงฟ้าราคาประหยัด ระหว่างวันที่ 24 – 26 กรกฎาคม ณ ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา  และที่พิเศษสำหรับปีนี้ ได้จัดขบวนพาเหรดยิ่งใหญ่รอบตัวเมืองนครราชสีมา ภายใต้แนวคิด “จุดประกาย ขยายความคิด พิชิตการเปลี่ยนแปลง สำแดงสัมฤทธิผล” ให้พี่น้องประชาชนได้ร่วมภาคภูมิใจในความสำเร็จของมหาวิทยาลัยของท่าน ในวันที่ 26 กรกฎาคม นี้ด้วย

     

นอกจากนี้ ยังมีการประชุมวิชาการนานาชาติ ได้แก่ South East Asian Technical University Consortium Symposium (SEATUC 2015) นำเสนอผลงานด้านวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระหว่างวันที่ 27 - 29 กรกฎาคม การประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีทั่วโลก (2015 World University of Technology Colloquium: WUTC) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้บทบาทของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีต่อการพัฒนาประชาคมโลกในทศวรรษหน้า ในวันที่ 28 กรกฎาคม รวมถึง กิจกรรมฉลอง 20 ปี ของการก่อตั้งสมาคมมหาวิทยาลัยแห่งภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก หรือ AUAP รวมถึงการประชุมการวิจัยด้านโรคเรื้อรัง Building Research Capacity for Non-Communicable Diseases ในวันที่ 28 - 29 กรกฎาคม ที่ร่วมจัดในโอกาสนี้ด้วย

ส่วนในเดือนพฤศจิกายนเป็นการประชุมใหญ่ระดับชาติ ร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 41 (วทท 41) ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานเปิดการประชุม รวมทั้งนักวิทยาศาสตร์ผู้รับรางวัลโนเบลเป็นองค์ปาฐกพิเศษ ตลอดจนกิจกรรมวิชาการอื่น ๆ ระหว่างนี้จนถึงสิ้นปีปฏิทิน เหล่านี้เป็นกิจกรรมพิเศษเนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองการสถาปนามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ครบ 25 ปี

25 ปี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐแห่งแรกของประเทศไทย มีปณิธานอันมั่นคงที่จะดำรงความเป็นเลิศในทุกภารกิจ ผลิตบัณฑิตนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้มีภูมิรู้ ภูมิธรรม ภูมิปัญญา และภูมิฐาน รวมทั้งธำรงไว้ซึ่งความเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการสร้างสรรค์นวัตกรรมและเป็นที่พึ่งของสังคมตลอดไป 


ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง