อธิการบดี มทส. นำคณะผู้บริหาร คณาจารย์ และ นศ. สาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการ เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รับพระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศ โครงการ “กรุงไทยต้นกล้าสีขาว”

อธิการบดี มทส. นำคณะผู้บริหาร คณาจารย์ และ นศ. สาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการ

เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

รับพระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศ โครงการ “กรุงไทยต้นกล้าสีขาว”

วันนี้ (24 มี.ค.58) เวลา 15.00 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ลง ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต  ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้คณะผู้บริหารโครงการ “กรุงไทย ต้นกล้าสีขาว” ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) พร้อมด้วย นายภัทรพล บัญชาจารุรัตน์ นายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลกุดจิก อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา  คณะผู้บริหาร มทส. ประกอบด้วย อาจารย์ ดร.กัณทิมา ศิริจีระชัย รองอธิการบดีฝ่ายพันธกิจสัมพันธ์กับองค์กรชุมชน อาจารย์ ดร.พีรศักดิ์ สิริโยธิน คณบดีสำนักวิชาเทคโนโลยีสังคม อาจารย์รัชฎาพร วิสุทธากร หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการ และนักศึกษา “ทีมหลานย่าพากินหมี่”  สาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการ จำนวน 5 คน  เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท เข้ารับพระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ อันดับที่ 1 โครงการ “กรุงไทย ต้นกล้าสีขาว ประจำปี 2556”  ยังความปลื้มปีติ แก่เหล่าผู้บริหาร คณาจารย์ และนักศึกษา มทส. ยิ่ง

ทั้งนี้ ทีมหลานย่าพากินหมี่  เจ้าของ “โครงการหมี่แห่งชีวิต พลิกฟื้นกุดจิกให้ยั่งยืน” ได้รับคัดเลือกให้เป็นโครงการดีเด่นระดับประเทศ รับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1  เมื่อต้นปี 2557 ที่ผ่านมา ประกอบด้วย นักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการ มทส. จำนวน 5 คน ได้แก่ น.ส.ธิติพร พรมคำ  นายยุทธพงษ์ สมภาร น.ส.ทิพยาภรณ์ วิธีเจริญ น.ส.ภัทรานิษฐ์ นิลเสถียร  และนายพิษณุ ช้างเขียว อาจารย์ที่ปรึกษาคือ อาจารย์รัชฎาพร วิสุทธากร โดยรับเงินรางวัล จำนวน 250,0000 บาท การศึกษาดูงานต่างประเทศ ทั้งยังคว้าอีก 2 รางวัลคือ รางวัลชนะเลิศภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รับเงินรางวัล 50,000 บาท และรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 บูธดีเด่น รับเงินรางวัล 10,000 บาท

 “โครงการหมี่แห่งชีวิต พลิกฟื้นกุดจิกให้ยั่งยืน” โดยทีมหลานย่าพากินหมี่ ได้ลงพื้นที่ดำเนินโครงการจริงร่วมกับเทศบาลและชาวชุมชนบ้านกุดจิก ตำบลกุดจิก อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ด้วยการร่วมมือร่วมใจกับผู้อาวุโสในชุมชนท้องถิ่นในการฟื้นฟู อนุรักษ์ และสืบสานอาชีพการทำเส้นหมี่โคราชด้วยมือตามแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นมากว่า 100 ปี  ทำให้ชุมชนได้กลับมารวมกลุ่มนำมาประกอบเป็นอาชีพแบบยั่งยืน และเลี้ยงตัวได้ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากจะเป็นการฟื้นฟูวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของชุมชนแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของจังหวัดนครราชสีมาอีกแห่งหนึ่งด้วย

ทั้งนี้ โครงการกรุงไทยต้นกล้าสีขาว ปี 2556 มีสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษากว่า 50 สถาบันจากทั่วประเทศส่งโครงการเข้าร่วมการแข่งขัน จำนวนทั้งสิ้น 412 ทีม โดยเป็นโครงการประกวดของนักศึกษาระดับปริญญาตรี ในการคิดวิเคราะห์เขียนแผนพัฒนาชุมชนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมลงพื้นที่ดำเนินโครงการจริง แล้วนำเสนอผลงานรอบชิงชนะเลิศผ่านการนำเสนอบนเวที การจัดบูธ และนำเสนอโปสเตอร์

 

 

ส่วนประชาสัมพันธ์ มทส.

24  มีนาคม  2558

จันทรรัตน์ บุญมาก :ภาพ/ข่าว


ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง