มทส. จับมือ สทน. เสริมความเข้มแข็งด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์

 

มทส. จับมือ สทน. เสริมความเข้มแข็งด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ พร้อมมุ่งประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงด้านการรักษาพยาบาลโรค

 

 

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จับมือ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. หวังร่วมประสานความร่วมมือทางวิชาการด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ เพื่อพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของทั้งสองฝ่ายให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งด้านการเรียนการสอน การวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ของประเทศ รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ทางการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรักษาโรคมะเร็งที่มีความซับซ้อนสูง

 

 

 

ศาสตราจารย์ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ร่วมกับ ดร.สมพร จองคำ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทน.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ลงนามในบันทึกความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสองสถาบันณ ห้องสารนิเทศ อาคารบริหาร เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2557 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกัน เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการวิจัยและพัฒนาในสาขาที่เกี่ยวข้อง พร้อมสนับสนุนให้นักวิจัยและนักวิชาการ ตลอดจนนักศึกษามีเครื่องมือและอุปกรณ์วิจัยที่เป็นมาตรฐานสากลในการดำเนินการวิจัยและกิจกรรมทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับทั้งสองฝ่าย ตลอดจนการพัฒนาและผลิตบุคลากร สนับสนุนและส่งเสริมความรู้ด้านพลังงานนิวเคลียร์และการบริหารจัดการความปลอดภัยในการใช้พลังงานนิวเคลียร์ภายในประเทศ

 

 

 

ศาสตราจารย์ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดี มทส. เปิดเผยว่า “จากการที่ มทส. เป็นมหาวิทยาลัยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีความพร้อมทางด้านวิชาการและกำลังคนคุณภาพในหลายสาขาวิชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขาวิชาฟิสิกส์ ที่มีความโดดเด่นและเข้มแข็งมากได้รับการประเมินคุณภาพงานวิจัยระดับดีเยี่ยม จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ติดต่อกัน 3 ปีซ้อน ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นการจับมือกับองค์กรระดับชาติในการที่จะร่วมกันใช้งานสร้างสรรค์ ทรัพยากร เทคโนโลยี และองค์ความรู้ที่มีอยู่ภายในสถาบันทั้งสองให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภารกิจการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น  โดยจะเริ่มจากการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน การผลิตบุคลากรระดับอุดมศึกษาและบัณฑิตศึกษา เพื่อรองรับการพัฒนาเทคโนโลยีในอนาคตอันใกล้ การสนับสนุนช่วยเหลือพัฒนาทางการศึกษา การแลกเปลี่ยนบุคลากร การวิจัยและพัฒนาร่วมใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ ห้องสมุดและสารสนเทศ การแสวงหาแหล่งทุนเพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานวิจัย และพัฒนาด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงมีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ได้กำหนดระยะเวลาความร่วมมือ 5 ปี

 

นอกจากนี้ ผลจากความร่วมมือดังกล่าวนอกจากจะเป็นการเสริมความเข้มแข็งให้กับทั้ง มทส. และ สทน. แล้ว ยังจะเป็นประโยชน์สำหรับวงการวิทยาศาสตร์สุขภาพด้วย เนื่องจากในอนาคตอันใกล้นี้ มหาวิทยาลัยยังมุ่งเน้นในการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวในการประยุกต์ใช้ทางการแพทย์ในโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย ในการรักษาโรคมะเร็งที่มีความซับซ้อนสูง เช่น มะเร็งสมอง มะเร็งลำคอ และอื่นๆ ซึ่งจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยได้ส่วนหนึ่ง และจะเป็นศูนย์กลางในการรักษาผู้ป่วยที่สำคัญแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือต่อไป”

 

 

 

ทางด้าน ดร.สมพร จองคำ ผอ. สทน. กล่าวว่า สนท. เป็นศูนย์กลางของการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ซึ่งมีการประยุกต์ใช้หลากหลายที่ประชาชนต้องพบเจออยู่ในชีวิตประจำวัน ทั้งด้านการเกษตร สิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม พลังงานและด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ทั้งการวินิจฉัยโรค การผลิตนวัตกรรมการรักษาโรคและการผลิตยารักษาโรคมะเร็ง ซึ่งที่ผ่านมา สนท. สามารถผลิตยารักษาโรคมะเร็งได้ไม่น้อยกว่า30 ชนิด นำไปใช้ในโรงพยาบาลไม่น้อยกว่า 25 แห่งทั่วประเทศ สามารถช่วยผู้ป่วยได้ไม่ต่ำกว่า3 หมื่นราย การลงนามความร่วมมือดังกล่าวจึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะมุ่งมั่นร่วมกันพัฒนาบุคลากรการวิจัยและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนต่อไป

 

 

 

ส่วนประชาสัมพันธ์มทส.

5 กันยายน 2557

ข่าวโดย: จันทรรัตน์/มนัสวี ภาพข่าวโดย: นพวรรณ

 


ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง