นักฟิสิกส์ไทยไม่น้อยหน้านักฟิสิกส์จีน โชว์ศักยภาพงานวิจัยในการประชุมซิโน-ไทยฟิสิกส์พลังงานสูง

 

นักฟิสิกส์ไทยไม่น้อยหน้านักฟิสิกส์จีน

โชว์ศักยภาพงานวิจัยในการประชุมซิโน-ไทยฟิสิกส์พลังงานสูง

 

ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท  สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ในฐานะประธานร่วมฝ่ายไทยในการจัดประชุมวิชาการ Sino-Thai Symposium on High Energy Physics and Beyond (STSP) กล่าวว่า การประชุมดังกล่าวมีการจัดประชุมทุกสองปี เพื่อเป็นเวทีให้นักฟิสิกส์นิวเคลียร์และนักฟิสิกส์พลังงานสูงของจีนและของไทย ได้นำผลงานวิจัยที่มีคุณภาพระดับสากลมาเสนอต่อที่ประชุมร่วม ในการประชุมครั้งที่ 3 (STSP’2014) ซึ่งฝ่ายจีนเป็นเจ้าภาพจัดที่เมืองอู่ฮั่น หูเป่ย์ (Wuhan, Hubei) สาธารณรัฐประชาชนจีน ปรากฏว่ามีคณาจารย์ นักศึกษาหลังปริญญาเอก และนักศึกษาปริญญาเอก เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 75 คน เป็นฝ่ายไทย 25 คน ซึ่งมีศาสตราจารย์ ดร.ยูเป็ง  แยน ผู้อำนวยการศูนย์กิจการนานาชาติ และ ศาสตราจารย์ ดร.สันติ  แม้นศิริ หัวหน้าสาขาวิชาฟิสิกส์ของ มทส. ร่วมอยู่ด้วย ฝ่ายจีน จำนวน 50 คน ซึ่งมีศาสตราจารย์อาวุโสที่มีชื่อเสียงทางนิวเคลียร์ฟิสิกส์ ฟิสิกส์พลังงานสูงและฟิสิกส์อนุภาครวมอยู่ด้วย เช่น ศาสตราจารย์ ดร.สู ไช้ (Xu Cai) อายุ 69 ปี ประธานร่วมฝ่ายจีน ศาสตราจารย์ ดร.ชงเซา โกว (Chongshou Gao) อายุ 80 ปี จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ศาสตราจารย์ ดร.เบนโฮว ซา (Benhao Sa)  อายุ 79 ปี จากสถาบันพลังงานปรมาณูของจีน (China Institute of Atomic Energy, CIAE) ศาสตราจารย์ ดร.เตา หวาง (Tao Huang) อายุ 75 ปี จากสถาบันฟิสิกส์พลังงานสูง (Institute of High Energy Physics, IHEP) เป็นต้น ทั้งนี้ กรรมการวิชาการร่วมสองฝ่าย ได้คัดเลือกผลงานวิจัยเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมผลงานละ 30 นาที ได้ผลงานฝ่ายไทย จำนวน 12 ผลงาน และผลงานฝ่ายจีน จำนวน 11 ผลงาน โดยฝ่ายจีนเพิ่มการบรรยายพิเศษโดย ศาสตราจารย์ ดร.สู ไช้ ประธานร่วมฝ่ายจีน เรื่อง ประวัติความเป็นมาและอนาคตการศึกษาวิจัยด้านฟิสิกส์พลังงานสูง จำนวนผลงานวิจัยที่ได้รับคัดเลือกให้นำเสนอนั้น สำหรับการประชุมสองครั้งที่ผ่านมา ทางฝ่ายจีนมีจำนวนมากกว่าทางฝ่ายไทยมาก ครั้งนี้จึงนับเป็นครั้งแรกที่มีจำนวนใกล้เคียงกัน ทางฝ่ายไทยก็นำเสนอได้ดี มีพื้นความรู้การทำวิจัยดีมาก ใช้ภาษาในการนำเสนอได้ดี ฟังคำถามและข้อสังเกตจากที่ประชุมเข้าใจ สามารถตอบคำถามได้ถูกต้องตรงประเด็น
 

ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “ต้องยอมรับว่าประเทศไทยของเราไม่ได้มีห้องปฏิบัติการหรือเครื่องมือสนับสนุนการวิจัยด้านฟิสิกส์พลังงานสูงมากนัก โชคดีที่ได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงช่วยให้มีการลงนามความร่วมมือระหว่างองค์กรเพื่อการวิจัยนิวเคลียร์แห่งยุโรป (CERN) กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มทส. และจุฬาฯ พัฒนาเครือข่ายคอมพิวเตอร์กริดเพื่อรองรับสนับสนุนการวิจัยด้านนี้ และขณะนี้ มทส. ก็เป็นสมาชิก   ของอลิซ (ALICE)  นับเป็นการสร้างโอกาสนักวิจัยไทยในเวทีนานาชาติ สิ่งที่น่าประทับใจในการประชุมครั้งที่ 3 นี้ คือ มีศาสตราจารย์อาวุโสที่มีชื่อเสียงมากของจีน ยังให้เกียรติมาร่วมประชุม ร่วมเสนอผลงาน หรือเป็นประธานกลุ่ม อยากเห็นบรรยากาศลักษณะนี้เกิดขึ้นในเมืองไทยของเรา การเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมครั้งที่ 2 ปี พ.ศ. 2555 จัดที่ มทส. โคราช สำหรับการจะเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม ครั้งที่ 4 ในปี พ.ศ. 2559 ฝ่ายไทยของเราจะต้องมีการเตรียมการด้านวิชาการให้พร้อม สำหรับสถานที่อาจจะเป็นที่จังหวัดเชียงใหม่ เรามีหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่อยู่ที่นี่ และคนจีนจำนวนมากที่มาเที่ยวในเมืองไทยเพราะหลงใหลและตามรอยภาพยนตร์เรื่อง Lost in Thailand ที่เนื้อหาเกี่ยวกับเมืองเชียงใหม่ด้วย” อธิการบดี มทส. กล่าวสรุป.

 

 

ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท  สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ในฐานะประธานร่วมฝ่ายไทย พร้อมด้วยคณาจารย์และนักวิจัยด้านฟิสิกส์นิวเคลียร์และฟิสิกส์พลังงานสูงของไทย ร่วมการประชุมวิชาการ Sino-Thai Symposium on High Energy Physics and Beyond (STSP) ในการประชุมครั้งที่ 3 (STSP’2014) ซึ่งฝ่ายจีนเป็นเจ้าภาพ ณ เมืองอู่ฮั่น หูเป่ย์ สาธารณรัฐประชาชนจีน

      

ผู้แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยไชน่าเซ็นทรัลนอร์มอล กล่าวเปิดการประชุมวิชาการ STSP’2014

 

ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ปิดการประชุมและเชิญชวนมาประชุมครั้งที่ 4 ที่เมืองไทย

 

ศาสตราจารย์ ดร.ยูเป็ง  แยน ผู้อำนวยการศูนย์กิจการนานาชาติ มทส.

 

 

 


ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง