ราคามันสำปะหลัง
ราคาหัวมันสด/มันเส้น (นครราชสีมา) 
ราคามันเส้น/โกดังส่งออก (อยุธยา) 
ราคามันเส้น (กรมการค้าภายใน)
การส่งออกมันเส้น/มันอัดเม็ด (สภาหอการค้าฯ) 
		
		
ชื่อ Admin

รหัสผ่าน :


 
 
 
 
 




ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ กำหนดเขตปลูกมันสำปะหลัง

อังคาร ที่ 19 เดือน สิงหาคม พ.ศ.2551


ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ กำหนดเขตปลูกมันสำปะหลัง
ผลงานวิจัยดีเด่นประจำปี 2545

ที่มาของงานวิจัย

คณะผู้จัดทำเรื่องนี้ประกอบด้วยคุณวินัย ศรวัต ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น คุณสุกิจ รัตนศรีวงษ์ สถานีทดลองพืชไร่ร้อยเอ็ด(ปัจจุบันคือศูนย์บริการวิชาการด้านพืชไร่ และปัจจัยการผลิตร้อยเอ็ด) และ คุณเพียงเพ็ญ ศรวัต ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น

คณะผู้วิจัย กล่าวถึงที่มาของงานวิจัยว่า
มันสำปะหลัง เป็นพืชไร่ ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2544/45 มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังประมาณ 6.7 ล้านไร่ ได้ผลผลิตรวม 17 ล้านตัน ผลผลิตเฉลี่ย 2.7 ตันต่อไร่ ซึ่งสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออกคิดเป็นมูลค่าประมาณ 20,000 ล้านบาท(ข้อมูลจากมูลนิธิเพื่อพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย เมื่อปี 2545)
 
มันสำปะหลังเป็นพืชที่ปลูกง่าย และขึ้นได้ดีแม้ในสภาพดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ ทำให้เกษตรกรนิยมปลูกอย่างกว้างขวาง แต่ประสิทธิภาพการผลิตยังต่ำอันเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง คณะผู้วิจัยจึงพิจารณาเห็นว่า ควรหาแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว โดยการเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น วิธีการเช่น การใช้พันธุ์ดีให้เหมาะสมกับพื้นที่ พันธุ์ดีที่ว่านี้มีอยู่หลายพันธุ์ที่จะให้เกษตรกรเลือกปลูกให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่แต่การจะบอกได้ว่าพันธุ์ใดเหมาะสมกับพื้นที่ใดจะต้องทำการทดลอง ซึ่งต้องใช้เวลา เสียค่าใช้จ่าย และใช้บุคลากรเป็นจำนวนมาก อย่ากระนั้นเลยในเมื่อยุคนี้เป็นยุคข้อมูลข่าวสาร เทคโนโลยีสารสนเทศ เข้ามามีบทบาทอย่างมากในชีวิตประจำวัน หากจะนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการพัฒนาระบบวางแผนการผลิตมันสำปะหลังก็ไม่น่าจะยากเย็น เกินไปนัก
 
คณะผู้วิจัยจึงได้สร้างแบบจำลองการเจริญเติบโตของมันสำปะหลังขึ้นมาโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศแบบจำลองการเจริญเติบโตของมันสำปะหลัง เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่พัฒนาขึ้นเพื่อจำลองกระบวนการพัฒนาการ และการเจริญเติบโตของมันสำปะหลังภายใต้สภาพแวดล้อมที่ต่างกันในแต่ละพื้นที่ สภาพแวดล้อมดังกล่าว ได้แก่ การใช้พันธุ์ ชนิดดินที่ปลูก ภูมิอากาศ และการจัดการที่แตกต่างกัน


การศึกษาวิจัย
วิธีการในการศึกษาพัฒนา และทดสอบแบบจำลองการเจริญเติบโตของมันสำปะหลัง ในครั้งนี้ดำเนินการระหว่างปี 2539-2542 โดยมีขั้น

ตอนการดำเนินงาน 4 ขั้นตอน คือ

ขั้นตอนที่ 1 ศึกษาพัฒนาการและการเจริญเติบโตของมันสำปะหลัง

มันสำปะหลังที่ใช้ในการศึกษาทดลองทั้งหมด 4 พันธุ์ คือ พันธุ์ระยอง 1 , ระยอง 5, ระยอง 90 และ เกษตรศาสตร์ 50 ซึ่งทั้ง 4 พันธุ์ แตกต่างกันในด้านทรงต้น และการแตกกิ่ง ทดลองปลูกกับชุดดินที่แตกต่างกัน 4 ชุด คือ ชุดดินวาริน ชุดดินยโสธร ชุดดินสตึก และชุดดินโคราช ดำเนินการปลูกที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่ และสถานีทดลองพืชไร่ร้อยเอ็ด ระหว่างปี 2539-2541 โดยดำเนินการปีละ 2 ฤดูกาลคือ ต้นฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคม และปลายฤดูฝน ประมาณเดือนตุลาคม

ทำการปลูกมันสำปะหลังในแปลงทดลองขนาด 15x18 เซนติเมตร แต่ละพันธุ์ปลูก 4 ฤดู ใช้ระยะปลูก 1x1 เมตร ปลูกแบบปัก หลุมละ 1 ต้นใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อมันสำปะหลังอายุ 1 เดือน และใส่ปุ๋ยยูเรีย และโพแทสเซียมคลอไรด์ อย่างละ 15 กิโลกรัม ต่อไร่ เมื่ออายุ 2 เดือน เก็บข้อมูลพัฒนาการของมันสำปะหลังเป็นรายต้น จำนวน 10 ต้น/แปลง (หรือในพื้นที่ 2x5 ตารางเมตร) โดยนับจำนวนใบที่เกิดใหม่ทุกสัปดาห์ พร้อมทั้งบันทึกวันแตกกิ่งในแต่ละระดับ เก็บตัวอย่างพืชเพื่อศึกษาการเจริญเติบโตครั้งละ 6 ต้น/แปลง) (หรือในพื้นที่ 2x3 ตารางเมตร) นำมาแบ่งเป็น หัว ลำต้น และใบ หาข้อมูลพื้นที่ใบและน้ำหนักแห่งของส่วนต่างๆ ในแต่ละครั้งของการเก็บตัวอย่าง โดยทำการเก็บตัวอย่างครั้งแรกเมื่อเริ่มแตกใบจริง และในครั้งต่อๆไป ที่อายุ 2, 4, 6, 8 และ 12 เดือน หลังปลูก
เก็บตัวอย่างดินก่อนปลูกที่ระดับความลึก 0-20 , 20-50 , 50-90 เซนติเมตรเพื่อนำมาวิเคราะห์ค่าความเป็นกรด-ด่าง(ค่า pH) ของดินปริมาณไนโตรเจนในรูปของแอมโมเนียม และไนเตรท ปริมาณฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ และโพแทสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ เพื่อนำไปสร้างฐานข้อมูลดิน โดยนำข้อมูลที่ได้ไปใส่ในแฟ้มข้อมูลการจัดการในโปรแกรม DSSAT 3.5

บันทึกข้อมูลภูมิอากาศเกษตรที่จำเป็นในระบบโปรแกรม DSSAT 3.5 ได้แก่ข้อมูลของพลังงานแสงอาทิตย์อุณหภูมิอากาศสูง-ต่ำและปริมาณน้ำฝนในรอบวัน ซึ่งได้จากเครื่องบันทึกภูมอากาศแบบกึ่งอัตโนมัติ และนำข้อมูลที่ได้ตลอดช่วงการทดลองไปสร้างแฟ้มข้อมูลภูมิอากาศ เพื่อนำไปใช้ในการจำลองสถานการณ์พัฒนาและการเจริญเติบโต

ขั้นตอนที่ 2 การประเมินค่าสัมประสิทธิ์ทางพันธุกรรมของมันสำปะหลัง

ค่าสัมประสิทธิ์พันธุกรรม ประกอบด้วยค่าต่างๆ หลายค่าที่แสดงถึงรูปแบบและศักยภาพการเจริญเติบโต ซึ่งค่าเหล่านี้ มีผลจากพัฒนาการและการเจริญเติบโตที่มีความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมของพืชนั้น

ข้อมูลค่าสัมประสิทธิ์พันธุกรรมของมันสำปะหลัง เก็บอยู่ในแฟ้มข้อมูล CSSIM 980. CUL ภายใต้ Folder Genotype ในโปรแกรม DSSAT V3.5 ซึ่งจะประกอบด้วยข้อมูลทั้งหมด 15 ค่า โดย 3 ค่าแรก เป็นสัมประสิทธิ์พันธุกรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนาการ อีก 12 ค่า เป็นสัมประสิทธิ์พันธุกรรมเกี่ยวกับการเจริญเติบโต ประกอบด้วยค่าต่างๆ ดังนี้

ค่าสัมประสิทธิ์ของการพัฒนาการ 3 ค่า ได้แก่

- ช่วงเวลาจากเริ่มงอกถึงการแตกกิ่งขั้นที่ 1 หมายถึง วันที่มีอุณหภูมิและแสงแดดพอเหมาะสำหรับการเจริญเติบโต โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่อง
น้ำและธาตุอาหาร
- ช่วงเวลาการแตกกิ่งแต่ละชั้น
- การตอบสนองต่อช่วงแสง

ค่าสัมประสิทธิ์ของการเจริญเติบโต 12 ค่าได้แก่
- อัตราการสังเคราะห์แสงสูงสุด
- จำนวนลำต้นหลักที่งอกจากท่อนปลูก
- จำนวนยอดสูงสุดต่อจุดที่มีการแตกกิ่ง
- จำนวนยอดทั้งหมดต่อต้น
- อัตราส่วนของน้ำหนักข้อต่อน้ำหนักต้น
- อัตราการเกิดใบ
- ช่วงระยะการเพิ่มจำนวนใบ
- พื้นที่ใบสูงสุด
- อายุเมื่อมีพื้นที่ใบสูงสุดหลังงอก
- พื้นที่ใบที่อายุ 300 วันหลังงอก
- อัตราส่วนของพื้นที่ใบต่อน้ำหนักใบ
- ช่วงอายุของแต่ละใบ ตั้งแต่เริ่มปรากฎจนถึงใบร่วง

(แต่ละค่าดังกล่าวข้างต้น มีชื้อเรียกเป็นตัวย่อ และมีหน่วยวัด เฉพาะสำหรับโปรแกรม โปรแกรม DSSAT V 3.5 ดังนั้นเพื่อความเข้าใจง่ายๆ ว่าแต่ละค่ามาจากไหน จึงขอนำมาให้ทราบเฉพาะที่มาของค่าเหล่านั้นเท่านั้น)

นำข้อมูลพืชที่รวบรวมได้ทั้งหมด รวมทั้งข้อมูลดิน ข้อมูลภูมิอากาศ และข้อมูลการจัดการมาสร้างแฟ้มข้อมูลการจัดการงานทดลอง แฟ้มข้อมูลช่วงของการเจริญเติบโต และแฟ้มข้อมูลพัฒนาการ และการเก็บเกี่ยวในครั้งสุดท้าย เพื่อทำการประเมินค่าสัมประสิทธิ์พันธุกรรมในแฟ้มข้อมูล CSSIM 980.CUL ซึ่งค่าสัมประสิทธิ์พันธุกรรมของแต่ละพันธุ์สามารถประมาณค่าโดยใช้ข้อมูลจากแปลงทดลองจริง และบางค่าที่มิได้มีการวัดในการทดลองนี้จะใช้จากค่าที่มีอยู่เดิม ตามโปรแกรมที่กำหนดไว้เป็นค่าตั้งต้น เช่น ค่าการตอบสนองต่อช่วงแสง และค่าการสังเคราะห์แสงสูงสุด จากนั้นนำสัมประสิทธิ์พันธุกรรมที่ประมาณค่าแล้วมาจำลองสถานการณ์ พร้อมกับเปรียบเทียบผลที่ได้ กับค่าสังเกต และปรับค่าสัมประสิทธิ์พันธุกรรมให้ ได้ผลการจำลองใกล้เคียงกับผลของแปลงทดลองจริง โดยดำเนินการในขั้นตอนการปรับค่าต่างๆ และนำมาจำลองสถานการณ์ซ้ำอีก จนกระทั้งได้ค่าที่ใกล้เคียงกับค่าที่วัดได้จากแปลงทดลองจริง

ขั้นตอนที่ 3 ทดสอบแบบจำลองเบื้องต้น

นำข้อมูลการจัดการพืชที่ได้จากงานทดลอง ได้แก่ วันปลูก วันใส่ปุ๋ย วันเก็บเกี่ยว พร้อมด้วยรหัสประจำพันธุ์ รหัสสถานที่แปลงทดลอง รหัสสถานีตรวจอากาศ และรหัสชุดดิน สร้างเป็นแฟ้มข้อมูลการจัดการ ตามโครงการสร้างแบบจำลอง DSSAT แฟ้มข้อมูลอื่นที่จำเป็น และเป็นส่วนประกอบที่สำคัญอยู่ในแฟ้มข้อมูลการจัดการได้แก่ แฟ้มข้อมูลค่าสัมประสิทธิ์พันธุกรรม ซึ่งได้จากการประมารค่าในขั้นตอนที่ 2 แฟ้มข้อมูลอากาศเกษตร ซึ่งเป็นข้อมูลอากาศในรอบวันที่ได้จากเครื่องบันทึกสภาพอากาศกึ่งอัตโนมัติ ที่สามารถตั้งให้บันทึกข้อมูลเป็นรายชั่วโมง แล้วนำมาคำนวณเป็นรายวัน ประกอบด้วยข้อมูลรังสีดวงอาทิตย์ อุณหภูมิสูงสุด ต่ำสุด และปริมาณน้ำฝน แฟ้มข้อมูลชุดดิน ที่ได้จากฐานข้อมูลชุดดิน DLDSIS ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินได้จัดทำไว้

นำข้อมูลจากการศึกษาการเจริญเติบโต และพัฒนาการของมันสำปะหลังที่เก็บจากแปลงทดลองจริง มาสร้างเป็นแฟ้มข้อมูลพัฒนาการและการเก็บเกี่ยวครั้งสุดท้าย เช่น น้ำหนักแห้งของต้น ใบ และผลผลิต พื้นที่ใบสูงสุด และวันที่แตกกิ่งแต่ละระดับ และแฟ้มข้อมูลช่วงของการเจริญเติบโต เช่น น้ำหนักแห้งของต้น ใบ และผลผลิต ในแต่ละช่วงการพัฒนาการ และดัชนีพื้นที่ใบ เป็นต้น เพื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลที่ได้จากการจำลองในส่วนของแฟ้มข้อมูลผลที่ได้รับ (Output Files) ตามโครงสร้างแบบจำลองพืช โดยใช้แบบจำลองมันสำปะหลังคำนวณช่วงระยะ การพัฒนาการในการแตกกิ่งแรก และน้ำหนักผลผลิตหัวแห้งของมันสำปะหลังทั้ง 4 พันธุ์ และนำผลที่ได้จากการคาดการณ์ของ แบบจำลองมา เปรียบเทียบกับข้อมูลจากแปลงทดลองโดยวิธีเขียนกราฟ

ขั้นตอนที่ 4 การทดสอบความแม่นยำของแบบจำลองมันสำปะหลัง

นำข้อมูลผลผลิตมันสำปะหลังจำนวน 2 พันธุ์ คือ พันธุ์ระยอง 90 และ ระยอง 5จากงานทดลองเปรียบเทียบพันธุ์ในท้องถิ่นในระหว่างปี 2534 - 2538 ซึ่งดำเนินการที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น ในดินชุดยโสธร ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง ในดินชุดสัตหีบ สถานีทดลองพืชไร่มหาสารคามในดินชุดโคราช มาเปรียบเทียบกับข้อมูลที่ได้จากการใช้แบบจำลอง ที่มีค่าสัมประสิทธิ์พันธุกรรมของพันธุ์ต่างๆจากการศึกษาในขั้นตอนที่ 2 และ 3 ฐานข้อมูลดินชุดต่าง ๆ ของกรมพัฒนาที่ดิน และใช้ข้อมูลภูมิอากาศในรอบวันของแต่ละสถานที่ จากปี 2534-2539 นำผลที่ได้จากการคาดการณ์ระบบจำลองมาเปรียบเทียบกับข้อมูลจากแปลงทดลอง โดยวิธีเขียนกราฟ และเปรียบเทียบความแตกต่างเฉลี่ยระหว่างค่าที่ได้จากแบบจำลอง และค่าที่ได้ จากแปลงทดลอง โดยใช้สูตรในการคำนวณ Rout Mean Square Error


ผลการศึกษาทดลอง

1. จากการศึกษาการพัฒนาการ และการเจริญเติบโตของมันสำปะหลังในปี 2539-2541 พบว่า อุณหภูมิสะสมที่ใช้ในการแตกกิ่งแรกและแตกกิ่งในระดับถัดไป จำนวนใบต่อต้น อัตราการเกิดใบต่อวัน รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักแห้งในส่วนใบ ต้น และหัว ของมันสำปะหลังแต่ละพันธุ์ เมื่อปลูกต้นและปลายฤดูฝนมีความแตกต่างกัน แสดงว่าสภาพแวดล้อมมีผลต่อพัฒนาการ และการเจริญเติบโตของมันสำปะหลัง

2. พันธุ์มันสำปะหลังที่มีการแตกกิ่งหลายระดับ เช่น พันธุ์ระยอง 5 และพันธุ์ระยอง 90 มีความแปรปรวนของจำนวนใบสะสมต่อต้นตลอดฤดูปลูก มากกว่าพันธุ์ที่มีการแตกกิ่งน้อย เช่น พันธุ์ระยอง 1 และเกษตรศาสตร์ 50 โดยพันธุ์ระยอง 5 มีจำนวนใบสะสมต่อต้นสูงที่สุดเมื่อปลูกปลายฤดูฝน นอกจากนี้พันธุ์ระยอง 5 และพันธุ์ระยอง 90 ยังมีค่าอุณหภูมิสะสมที่ใช้ในการปรากฎใบหนึ่งใบ ต่ำกว่าพันธุ์ระยอง 1 และพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 กล่าวได้ว่าพันธุ์มันสำปะหลังที่มีการแตกกิ่งหลายระดับ หรือแตกกิ่งแรกในระดับต่ำมีอัตราการปรากฎใบต่อวันสูงกว่าพันธุ์ที่มีการแตกกิ่งน้อย หรือแตกกิ่งแรกในระดับสูง

3. นำข้อมูลการพัฒนาการและการเจริญเติบโตของแต่ละพันธุ์ที่ได้ ไปประเมินค่าสัมประสิทธิ์พันธุกรรมในแบบจำลองมันสำปะหลัง และนำค่าที่ได้จากแบบจำลองมาเปรียบเทียบกับค่าสังเกตจากการทดลองในแปลง ผลปรากฎว่าค่าสัมประสิทธิ์พันธุกรรมของพันธุ์ระยอง 5 พันธุ์ระยอง90พันธุ์ระยอง 1 และพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 สามารถที่จะนำไปใช้ในแบบจำลองมันสำปะหลังได้ เนื่องจากค่าที่ได้จากแบบจำลอง เป็นไปใน ทำนองเดียวกันกับแปลงทดลอง สำหรับในพันธุ์ระยอง 1 และพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 เนื่องจากยังมีจำนวนแปลงน้อย จึงยังคงต้องมีการศึกษาในขั้นตอนการประมาณค่าสัมประสิทธิ์พันธุกรรมให้แน่นอนอีกครั้ง

4. แบบจำลองพืช สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุน การวิจัยทางการเกษตร นับเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านการสังเคราะห์องค์ความรู้ในการวิจัย ทำให้เกิด ความเข้าใจในกระบวนการต่างๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจในการผลิตพืช และประกอบการพิจารณาในการวางแผนการผลิตพืช ทำให้ประหยัดเวลาและประหยัดงบประมาณจากการที่นำมาเป็นเครื่องมือในการพิจารณาเลือกแปลง ที่จะทดลองให้มีสภาพแล้วดล้อมที่แตกต่างกันตามต้องการ การที่จะให้แบบจำลองมีความแม่นยำในผลของการคาดการณ์ จำเป็นต้องมีการศึกษาในกระบวนการต่างๆ ของพืชในการตอบสนองต่อปัจจัยต่างๆ ในการผลิตเพิ่มมากขึ้น


ประโยชน์ที่ได้รับ
1. ได้ทราบถึงข้อมูลพื้นฐานด้านการพัฒนาการ และเจริญเติบโตของมันสำปะหลังพันธุ์ที่แนะนำให้เกษตรกรปลูก คือ พันธุ์ระยอง 1 พันธุ์ระยอง 5 พันธุ์ระยอง 90 และพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับใช้ในแบบจำลองการเจริญเติบโต ของมันสำปะหลัง นับว่าเป็นเครื่องมือช่วยสนับสนุนงานวิจัยและถ่ายทอดสู่เกษตรกร รวมทั้งเป็นข้อมูลพื้นฐานประกอบการปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลัง คือ

1.1 ใช้ลักษณะทางสรีรวิทยาที่มีผลกระทบสูง ต่อการให้ผลผลิตมาใช้เป็นข้อพิจารณาในการคัดเลือกพันธุ์

1.2 ใช้เป็นเครื่องมือประกอบการตัดสินใจ สำหรับนักปรับปรุงพันธ์ในการคัดเลือกสายพันธุ์ในขั้นตอน ซึ่งมีจำนวนมาก โดยการแบ่งกลุ่ม

1.3 ใช้เป็นเครื่องมือในการทดสอบพันธุ์ในหลายๆ แหล่งปลูก โดยการประเมินศักยภาพของพันธุ์ในเบื้องต้น ในการตอบสนอง ต่อสภาพแวดล้อมและการจัดการ เป็นการย่นระยะเวลา และลดจำนวนแปลงในการทดสอบ เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณ
 

2. ได้ข้อมูลพื้นฐานค่าสัมประสิทธิ์ทางพันธุกรรมของมันสำปะหลังแต่ละพันธุ์ ซึ่งเป็นข้อมูลนำเข้าหลัก ในการนำไปพัฒนาแบบจำลอง การเจริญเติบโตของมันสำปะหลัง เพื่อประกอบการสนับสนุนการตัดสินใจของเกษตรกร ในการเลือกใช้พันธุ์มันสำปะหลังให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และใช้ข้อมูลดังกล่าวในการวางแผนการผลิตมันสำปะหลังของเกษตรกร

3. ได้ข้อมูลพื้นฐานในด้านการพัฒนาแบบจำลองการเจริญเติบโตของมันสำปะหลัง เพื่อช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และเวลาในการทำการทดลอง โดยเป็นการทดลองโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ได้ข้อมูลเบื้องต้นก่อนนำไปทดลองในแปลงทดลองจริง

4. ได้ข้อมูลพื้นฐานในด้านการพัฒนาแบบจำลองการเจริญเติบโตของมันสำปะหลัง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการผลิตมันสำปะหลังคือ

- การนำไปวิเคราะห์ศักยภาพการผลิตมันสำปะหลัง ทั้งในระดับจังหวัด ระดับเขตการผลิตของโรงงาน ระดับหมู่บ้าน และระดับครัวเรือนเกษตรกร
- นำไปวิเคราะห์ศักยภาพการผลิต และการจัดการของเกษตรกร
- นำไปวิเคราะห์ศักยภาพของมันสำปะหลังพันธุ์ต่าง ๆ และเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมในแต่ละแหล่งปลูกเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการจัดทำเขตการปลูกที่เหมาะสม (Zoning) ของมันสำปะหลัง อันเป็นนโยบายหลักของกรมวิชาการเกษตร และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในขณะนี้
 
ดูจากรายละเอียดของขั้นตอนการวิจัยแล้ว ต้องบอกว่า สมควรแล้วกับรางวัลผลงานวิจัยดี เด่นที่ได้รับในครั้งนี้ เพราะนอกจากจะต้องใช้ ความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีสารสนเทศแล้ว ยังต้องใช้ความอดทนพยายามในการเก็บข้อมูลในแปลงทดลอง ที่ค่อนข้างละเอียด และใช้เวลานานนับปี กว่าจะได้ข้อมูลมาใช้กับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่สำคัญคือ ทำงานกันเพียง 3 ท่านเท่านั้น "ผลิใบฯ" ขอชื่นชมกับความสำเร็จของทั้ง 3 ท่าน และขอเป็นกำลังใจสำหรับงานวิจัยต่อเนื่องต่อไปด้วย