ราคามันสำปะหลัง
ราคาหัวมันสด/มันเส้น (นครราชสีมา) 
ราคามันเส้น/โกดังส่งออก (อยุธยา) 
ราคามันเส้น (กรมการค้าภายใน)
การส่งออกมันเส้น/มันอัดเม็ด (สภาหอการค้าฯ) 
		
		
ชื่อ Admin

รหัสผ่าน :


 
 
 
 
 




เขตการผลิตมันสำปะหลังที่เหมาะสมรอบโรงงานเอทานอล

อังคาร ที่ 19 เดือน สิงหาคม พ.ศ.2551


เขตการผลิตมันสำปะหลังที่เหมาะสมรอบโรงงานเอทานอล
 
        ในการวางแผนพัฒนาการเกษตรทั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องรวดเร็ว และทันต่อเหตุการณ์ จึงได้มีการนำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System : GIS) ระบบการรับรู้ข้อมูลระยะไกล (Remote Sensing : RS) และระบบการกำหนดตำแหน่งบนพื้นที่โลก (Global Positioning System : GPS) มาประยุกต์ใช้ในการจัดสร้างฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ และนำไปเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีแบบจำลองพืช (Crop Modeling) เพื่อให้สามารถใช้ศักยภาพของเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้เป็นประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
 
การกำหนดเขตพื้นที่การผลิตที่เหมาะสม (Zoning)
       จากผลงานวิจัยดีเด่นประเภทงานวิจัยพื้นฐานของกรมวิชาการเกษตร ปี 2545 เรื่อง การศึกษาพัฒนาการ การเจริญเติบโตและสัมประสิทธิ์ทางพันธุกรรมของพันธุ์มันสำปะหลัง เพื่อใช้ในการกำหนดเขตการผลิตมันสำปะหลัง ซึ่งได้นำเสนอเรื่องราวใน ผลิใบ ปีที่ 6 ฉบับที่ 3 ประจำเดือนเมษายน 2546 ไปแล้วนั้น ทำให้ได้ข้อมูลสัมประสิทธิ์พันธุกรรม หรือข้อมูลลักษณะประจำพันธุ์ ของมันสำปะหลังแต่ละพันธุ์ เมื่อนำข้อมูลนี้ไปใช้ในแบบจำลองการเจริญเติบโตของมันสำปะหลัง ก็สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการคาดการณ์ผลผลิตของแต่ละพันธุ์ที่จะได้รับ เมื่อนำไปปลูกในที่ต่างๆ ที่มีสภาพแวดล้อมแตกต่างกัน ผลที่ได้คือข้อมูลศักยภาพการผลิตของมันสำปะหลัง ภายใต้สถานการณ์และสภาพแวดล้อมที่กำหนด จากนั้นเมื่อนำข้อมูลที่ได้ไปเชื่อมโยงกับระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ จะได้แผนที่ศักยภาพการผลิตมันสำปะหลังที่มีระดับความเหมาะสมของผลผลิตในแต่ละพื้นที่แตกต่างกันไป จากองค์ความรู้ดังกล่าว จะนำไปสู่การผลิตแผนที่เขตการผลิตที่เหมาะสม (Zoning) ของมันสำปะหลัง ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้แต่เดิม
 
ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน
        ตามที่รัฐบาลได้อนุมัติให้มีการจัดตั้งโรงงานผลิตเอทานอลเพื่อใช้ทดแทนพลังงาน ในระยะแรก 8 โรงงาน โดยใช้กากน้ำตาลเป็นวัตถุดิบ 4 โรงงาน และอีก 4 โรงงาน ใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบ บริษัทไทยง้วนเอทานอล จำกัด เป็นหนึ่งในสี่โรงงานที่ใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอล ตั้งอยู่ที่ บ้านระหอกโพธิ์ กิ่งอำเภอโนนศิลา จังหวัดขอนแก่น มีกำลังการผลิต 130,000 ลิตรต่อวัน ต้องการใช้วัตถุดิบมันสำปะหลัง 750-800 ตันต่อวัน มีระยะเวลาการผลิต 330 วันต่อปี หรือใช้มันสำปะหลังปีละประมาณ 250,000 ตัน ซึ่งต้องใช้พื้นที่ปลูกประมาณ 80,000-100,000 ไร่
 
       สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จังหวัดขอนแก่น ได้ร่วมกับศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น ดำเนินงานโครงการความร่วมมือภาครัฐและเอกชนโดยมีเกษตรกรเป็นศูนย์กลาง เพื่อพัฒนาการผลิตมันสำปะหลังสู่อุตสาหกรรมเอทานอล ตั้งแต่ปี 2547 โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินงานในเขตรัศมี 50 กิโลเมตรรอบโรงงาน ซึ่งสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 มีภารกิจในการใช้กระบวนการมีส่วนร่วม ในการสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายการผลิตการตลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการทั้งของโรงงานและกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมาย และศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น รับผิดชอบในการวิเคราะห์ศักยภาพการผลิตของพื้นที่เป้าหมาย โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
 
การพัฒนาฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ ในพื้นที่เป้าหมาย
      วิธีการดำเนินงาน มีขั้นตอน คือ การรวบรวมข้อมูลแผนที่ที่เกี่ยวข้อง จากหน่วยงานต่าง ๆ ในระดับมาตราส่วน 1:50,000 ได้แก่ แผนที่ขอบเขตการปกครอง ขอบเขตชุดดิน ขอบเขตภูมิอากาศ ในรูปของปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายปี และสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินจากการแปลผลและวิเคราะห์ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม มาจัดเก็บเป็นชั้นข้อมูลในรูปแบบ Shape file ของโปรแกรม ArcView GIS
ในการดำเนินงานขั้นตอนแรก ได้นำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์มาใช้กำหนดพื้นที่เป้าหมายที่ชัดเจน โดยยึดถือพื้นที่ในรัศมี 50 กิโลเมตรรอบโรงงาน ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 4,883,857 ไร่ ใน 186 ตำบล 34 อำเภอ ของ 5 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น มหาสารคาม บุรีรัมย์ นครราชสีมา และชัยภูมิ แต่จากข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินในการปลูกมันสำปะหลัง จากระบบสนับสนุนการกำหนดเขตปลูกพืชเศรษฐกิจ (AgZone 1.0) ของกรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งเป็นข้อมูลในปี 2542 พบว่าในรัศมี 50 กิโลเมตรรอบโรงงานเอทานอล มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง รวม 637,861 ไร่ พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่กระจายอยู่ใน 11 อำเภอ 3 กิ่งอำเภอ 87 ตำบล ของจังหวัดขอนแก่น จำนวน 556,038 ไร่ รองลงมาได้แก่ จังหวัดมหาสารคาม 3 อำเภอ 1 กิ่งอำเภอ 20 ตำบล จำนวน 65,612 ไร่ และจังหวัดนครราชสีมา 2 อำเภอ 1 กิ่งอำเภอ 14 ตำบล จำนวน 16,211 ไร่
สำหรับฐานข้อมูลชุดดิน เป็นข้อมูลที่นำเข้าจากแผนที่ชุดดินจังหวัด ปี 2545 ของกรมพัฒนาที่ดิน พบว่าในพื้นที่รัศมี 50 กิโลเมตร ประกอบด้วยชุดดินทั้งหมด 52 ชุดดิน ชุดดินที่มีพื้นที่มากทีสุด คือ ชุดดินบ้านไผ่ มีพื้นที่ 717,597 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 16 ของชุดดินทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีชุดดินที่มีพื้นที่มากกว่า 2 แสนไร่ คือ ชุดดินมหาสารคาม ทุ่งกุลาร้องไห้ ร้อยเอ็ด น้ำพอง และหนองบุนนาก อย่างไรก็ตาม เมื่อทำการซ้อนทับ (Overlay) แผนที่ปลูกมันสำปะหลังกับแผนที่ชุดดิน พบว่าพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังร้อยละ 80 มีหนาแน่นในชุดดินไร่ (Upland Soil ) เช่น ชุดดินบ้านไผ่ มหาสารคาม และน้ำพอง ส่วนอีกร้อยละ 20 พบในชุดดินนา (Lowland Soil) เช่น ชุดดินอุบล สีดา และหนองบุนนาก
ฐานข้อมูลเขตภูมิอากาศ เป็นข้อมูลสถิติปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยของสถานีอุตุนิยมวิทยา ของกรมอุตุนิยมวิทยา ระหว่าง ปี 2536-2545แสดงในรูปเขตเส้นฝน (Isoline) พบว่าพื้นที่รัศมี 50 กิโลเมตรรอบโรงงาน มีความแตกต่างของภูมิอากาศ แบ่งได้ 3 เขต คือ เขตที่มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 800-1,000 มิลลิเมตรต่อปี พื้นที่ 182,232 ไร่ ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,000-1,200 มิลลิเมตรต่อปี พื้นที่ 4,069,345 ไร่ และปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,200-1,400 มิลลิเมตรต่อปี มีพื้นที่ 632,278 ไร่
 
การสร้างแผนที่ศักยภาพการผลิต
       สร้างแผนที่ภูมินิเวศ ในรัศมี 50 กิโลเมตรรอบโรงงาน โดยนำข้อมูลเชิงพื้นที่ขอบเขตการปกครอง ข้อมูลชุดดินที่มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังหนาแน่น และข้อมูลภูมิอากาศ มาวิเคราะห์เชิงซ้อนโดยเทคนิค GIS (Overlay operation) ทำให้ได้ชั้นข้อมูลใหม่ในแต่ละหน่วยแผนที่ ประกอบด้วยรหัสชุดดิน เขตภูมิอากาศ และขอบเขตการปกครองระดับตำบลกำกับอยู่ เรียกว่า หน่วยการจำลองการผลิต (Simulating Mapping Unit , SMU) จำนวน 78 หน่วยจำลองการผลิต ซึ่งในแต่ละ SMU จะมีข้อมูลอรรถาธิบายที่ระบุ ชุดดิน และเขตภูมิอากาศ ซึ่งเป็นข้อมูลนำเข้าที่สำคัญสำหรับแบบจำลองมันสำปะหลัง ในการคาดการณ์ผลผลิต
นำผลจากการประเมินผลผลิตด้วยแบบจำลองการผลิตมันสำปะหลัง โดยการจำลองสถานการณ์ในรอบ 10 ปี ผ่านโปรแกรม DSSAT–GUMCAS Ver. 3.5 ภายใต้เงื่อนไขของการใช้พันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 ซี่งเป็นพันธุ์ที่เกษตรกรส่วนมากใช้ปลูก ที่ระยะปลูก 80x60 เซนติเมตร ปลูกช่วงกลางเดือนตุลาคม เก็บเกี่ยวที่อายุ 12 เดือน ทั้ง 78 หน่วยจำลองการผลิต พื้นที่รวม 637,861 ไร่ มาแสดงในรูปแผนที่ โดยเชื่อมโยงศักยภาพการผลิตของแต่ละหน่วยจำลอง ให้แสดงผลเต็มพื้นที่ในเขตการผลิตรัศมี 50 กิโลเมตรรอบโรงงานเอทานอล เพื่อให้เห็นถึงศักยภาพการผลิตมันสำปะหลังทั้งหมดในพื้นที่ ที่สามารถใช้ในการผลิตมันสำปะหลังได้ ทั้งในชุดดินไร่และดินนา รวมทั้งสิ้น 5,344,719 ไร่ พบว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ให้ผลผลิตที่ระดับ 3 - 5 ตันต่อไร่ จำนวน 2,848,183 ไร่ โดยอยู่ในเขตจังหวัดขอนแก่น 1,273,394 ไร่ ในชุดดินพล บ่อไทย และศรีสงคราม เป็นส่วนใหญ่ (มีพื้นที่มากกว่า 10,000 ไร่ ขึ้นไป) เขตจังหวัดมหาสารคาม 336,798 ไร่ ในชุดดินมหาสารคาม เป็นส่วนใหญ่ เขตจังหวัดนครราชสีมา 621,951 ไร่ ในชุดดินทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นส่วนใหญ่ เขตจังหวัดชัยภูมิ 363,173 ไร่ ในชุดดินร้อยเอ็ด และโคราช เป็นส่วนใหญ่ เขตจังหวัดบุรีรัมย์ 252,867 ไร่ ในชุดดินร้อยเอ็ด และท่าตูม เป็นส่วนใหญ่ ส่วนผลผลิตที่อยู่ในระดับรองลงมา คือ 5-8 ตันต่อไร่ มีจำนวน 2,275,968 ไร่ และผลผลิตที่ระดับมากกว่า 8 ตันต่อไร่ จำนวน 133,886 ไร่
 
การเพิ่มศักยภาพการผลิตในพื้นที่เป้าหมาย
         จากข้อมูลแผนที่ศักยภาพการผลิตมันสำปะหลัง ในรัศมี 50 กิโลเมตรรอบโรงงาน ได้ถูกนำไปใช้สนับสนุนการตัดสินใจในการคัดเลือกพื้นที่เป้าหมาย ที่จะสามารถยกระดับผลผลิตเฉลี่ยจากเดิม 2.6 ตันต่อไร่ ให้ได้ 4 ตันต่อไร่ จำนวน 19 ตำบล ในเขตอำเภอเมือง มัญจาคีรี บ้านไผ่ เปือยน้อย กิ่งโคกโพธิ์ชัย กิ่งบ้านแฮด และกิ่งโนนศิลา จังหวัดขอนแก่น และอีก 3 ตำบล ในเขตอำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม โดยหากคำนวณตามพื้นที่ ที่เคยมีการปลูกมันสำปะหลังใน 22 ตำบล ของโครงการฯ (จากข้อมูลปี 2546 ของกรมส่งเสริมการเกษตร) จำนวน 84,568 ไร่ และคิดจากผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เดิมของเกษตรกร 2.6 ตันต่อไร่ จะได้ปริมาณผลผลิต 219,877 ตันต่อปี ซึ่งหากผลการดำเนินงานของโครงการฯ เป็นไปตามเป้าหมายในการยกระดับผลผลิตให้ได้ 4 ตันต่อไร่ จะได้ปริมาณผลผลิตรวมเป็นปีละ 338,272 ตัน ทำให้มีวัตถุดิบพอเพียงที่จะป้อนโรงงาน ไทยง้วนเอทานอล ที่มีความต้องการใช้วัตถุดิบจากมันสำปะหลังปีละ 250,000 ตัน หรือมีกำลังการผลิต 130,000 ลิตรต่อวัน โดยจะยังมีมันสำปะหลังเหลือพอที่จะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูปอย่างอื่น เช่น ทำมันเส้น หรือแป้งมันสำปะหลัง ได้อีก หรือเหลือพอที่จะป้อนโรงงานเอทานอล ที่มีกำลังการผลิต 48,000 ลิตรต่อวัน ได้อีก 1 โรงงาน
ในปี 2548 นี้ อยู่ระหว่างการดำเนินงานโครงการฯ เป็นปีที่สอง โดยยึดถือแนวคิดในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ มาเป็นเครื่องมือเพื่อช่วยในการวางแผนพัฒนาการผลิตของเกษตรกร โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม เป็นตัวขับเคลื่อนในการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลัง ตามหลักเกษตรดีที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนการใช้กระบวนการกลุ่มและเครือข่าย บริหารจัดการในการวางแผนการผลิต ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นไปตามแนวคิดของรัฐบาลที่จะนำระบบ GIS หรือ Geographic Information System กับ MIS หรือ Management Information System มารวมกัน เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการพัฒนาประเทศต่อไป
 

--------------------------------------


วินัย ศรวัต
สุกิจ รัตนศรีวงษ์
ผู้เขียน