ราคามันสำปะหลัง
ราคาหัวมันสด/มันเส้น (นครราชสีมา) 
ราคามันเส้น/โกดังส่งออก (อยุธยา) 
ราคามันเส้น (กรมการค้าภายใน)
การส่งออกมันเส้น/มันอัดเม็ด (สภาหอการค้าฯ) 
		
		
ชื่อ Admin

รหัสผ่าน :


 
 
 
 
 




แก้ปัญหาขาดแคลนท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง

อังคาร ที่ 19 เดือน สิงหาคม พ.ศ.2551


แก้ปัญหาขาดแคลนท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง
 
           จากสภาวะความแห้งแล้งตั้งแต่เดือนกันยายน 2547 เป็นต้นมา มีผลกระทบต่อการผลิตมันสำปะหลังของไทย ทั้งในระยะสั้นคือผลผลิตลดลงมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ เกษตรกรเร่งเก็บเกี่ยวเนื่องจากหัวมันสำปะหลังสดมีราคาสูง ก็จะยิ่งทำให้ผลผลิตต่อพื้นที่ลดลงไปอีก ส่วนผลกระทบในระยะยาวคือ การขาดท่อนพันธุ์สำหรับปลูกในต้นฤดูฝนปี 2548 และอาจจะขาดผลผลิตหัวสดในปี 2548 ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2549 ได้ กรมวิชาการเกษตรซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำงานวิจัยด้านการผลิตมันสำปะหลัง จึงต้องขอความร่วมมือจากเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง เพื่อให้ช่วยกันแก้ไขปัญหาที่กล่าวมาแล้ว เพื่อให้มีการผลิต การแปรรูปและการตลาดที่มั่นคงต่อไป จึงควรดำเนินการ ดังนี้
 
1. เกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลังอายุไม่ถึง 10 เดือน ยังไม่ควรเก็บเกี่ยว เพราะถึงแม้จะขายได้ราคาสูง แต่เมื่อผลผลิตไม่สูง รายได้รวมก็จะไม่มาก คาดว่าในปี 2548 นี้ ราคาหัวมันสำปะหลังสดจะสูงตลอดปี
2. เกษตรกรที่มีมันสำปะหลังอายุเกิน 10 เดือน และต้องการเก็บเกี่ยวก็ให้ดำเนินการได้ โดยควรเว้นพื้นที่ไว้ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ส่วน สำหรับใช้เป็นต้นพันธุ์ในฤดูต่อไป และต้นที่เก็บเกี่ยวแล้วประมาณ 9 ใน 10 ส่วนนี้ สามารถจำหน่ายจ่ายแจกให้แก่ผู้ปลูกรายอื่นที่ต้องการต้นพันธุ์ได้
3. หากเกษตรกรจำเป็นต้องใช้ต้นพันธุ์เพื่อปลูกหลังจากปลูกไปแล้วมากกว่า 8 เดือน ก็สามารถตัดต้นพันธุ์ไปใช้ได้ โดยยังไม่ต้องขุดหัว แต่หลังจากตัดต้นแล้วภายใน 3 เดือนไม่ควรเก็บเกี่ยวหัว เพราะจะได้หัวที่มีปริมาณแป้งต่ำ และหากมีความต้องการเก็บเกี่ยวหัวพร้อมกับให้ได้ต้นพันธุ์รุ่นที่ 2 ก็ควรมีการปฏิบัติเพื่อให้ได้ต้นพันธุ์ที่ดีดังนี้
- ตัดต้นพันธุ์ครั้งแรกให้เหลือตอต่ำกว่าการเก็บเกี่ยวปกติ ซึ่งจะทำให้ได้ต้นพันธุ์ในการตัดครั้งแรกมากขึ้น และต้นพันธุ์ที่จะงอกขึ้นมาใหม่มีความแข็งแรงและเจริญเติบโตเร็วกว่าการปลูกใหม่
- เมื่อมีการแตกตาออกมาใหม่จากตอที่เหลือ ให้ปลิดตาที่ไม่แข็งแรงออกให้เหลือตาที่แข็งแรงต้นละไม่เกิน 4 ตา เพื่อจะได้เจริญเติบโตเป็นต้นพันธุ์ที่แข็งแรงต่อไป
- ตัดต้นพันธุ์รุ่นใหม่พร้อมกับขุดหัว เมื่ออายุต้นพันธุ์มากกว่า 8 เดือน จะได้ทั้งต้นพันธุ์ที่สามารถนำไปปลูกได้ดี มีผลผลิตหัวมันสำปะหลังสดมากและคุณภาพสูงตามลักษณะประจำพันธุ์ โดยเฉพาะถ้าเก็บเกี่ยวในฤดูแล้ง ก็จะได้หัวที่มีปริมาณแป้งในหัวสูงมากกว่าปกติด้วย

4. สำหรับเกษตรกรที่ปลูกใหม่เพื่อให้ได้ต้นพันธุ์มากกว่าปกติก็สามารถทำได้ง่ายๆ คือ
- ในเขตที่มีน้ำชลประทานที่มีการให้น้ำในแปลงปลูกมันสำปะหลัง สามารถใช้ท่อนพันธุ์ที่มีความยาวเพียง 10 เซนติเมตรก็เพียงพอ จะทำให้ได้พื้นที่ปลูกใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า โดยใช้ต้นพันธุ์เท่าเดิม
- หากปลูกเพื่อเน้นการขยายพันธุ์ เพื่อจำหน่ายต้นพันธุ์เป็นหลัก และทำให้ได้ต้นพันธุ์มากที่สุดให้ดำเนินการดังนี้
- ให้ปลูกระยะ 50 x 50 เซนติเมตร ซึ่งจะทำให้ได้ต้นพันธุ์มากเป็น 4 เท่าของระยะปลูกปกติ ถึงแม้จะได้หัวมันสำปะหลังลดลง แต่จะมีรายได้จากการจำหน่ายต้นพันธุ์มากขึ้นเป็นการทดแทน
- ปลูกมันสำปะหลังในระยะปกติ 1x1 เมตร หลังปลูกประมาณ 1 เดือนให้ตัดยอดประมาณ 10 เซนติเมตรเพื่อให้มีตาแตกออกมาจากต้นที่ตัดนั้น ทำให้ได้ต้นพันธุ์ประมาณ 4 ต้นต่อ 1 หลุมปลูก ซึ่งมีปริมาณต้นพันธุ์มากกว่าปกติ 2 เท่า

5. อัตราการขยายพันธุ์ของมันสำปะหลังโดยใช้ท่อนพันธุ์ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร จะประมาณ 1: 10 แต่สำหรับในปีนี้ซึ่งต้นพันธุ์มีอัตราการเจริญเติบโตต่ำอาจจะเหลือเพียง 1:6-1:8 เท่านั้น ดังนั้นการจัดหาต้นพันธุ์ควรคิดให้รอบคอบว่าจะเริ่มดำเนินการอย่างไร จะได้ไม่เสียเวลา และอาจเสียต้นพันธุ์ที่มีอยู่น้อยอยู่แล้วให้เสียหายเพิ่มขึ้นไปอีก การปลูกในเขตชลประทานที่มีน้ำเพียงพอตลอดฤดูปลูกจะสามารถเพิ่มอัตราส่วนของการขยายพันธุได้มากยิ่งขึ้น ทั้งในการปลูกโดยใช้ท่อนพันธุ์สั้นลง และการปลูกที่มีจำนวนต้นต่อไร่สูงขึ้น
 
6. ต้นพันธุ์มันสำปะหลังโดยทั่วไปสามารถเก็บไว้ในที่ร่ม ซึ่งอาจเป็นใต้ต้นไม้หรือชายคาบ้านวางต้นในแนวตั้ง เป็นเวลาประมาณ 1 เดือน โดยยังมีความงอกสูงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ยกเว้นพันธุ์ระยอง 90 จะสามารถเก็บไว้ได้เพียงประมาณ 15 วัน
7. ท่อนพันธุ์ที่ตัดสำหรับปลูกควรปลูกให้หมดภายในวันนั้นๆ ไม่ควรเก็บไว้หลายวันก่อนปลูก
 
หากเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังทุกท่านได้ปฏิบัติอย่างถูกต้อง ได้ประสานงานระหว่างกันและกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2548 ก็จะสามารถลดการขาดต้นพันธุ์มันสำปะหลังได้โดยเร็ว และจะผลิตได้ตามปกติในปีต่อๆไป
 

---------------------------------------

สมศักดิ์ ทองศรี
ผู้เขียน