ราคามันสำปะหลัง
ราคาหัวมันสด/มันเส้น (นครราชสีมา) 
ราคามันเส้น/โกดังส่งออก (อยุธยา) 
ราคามันเส้น (กรมการค้าภายใน)
การส่งออกมันเส้น/มันอัดเม็ด (สภาหอการค้าฯ) 
		
		
ชื่อ Admin

รหัสผ่าน :


 
 
 
 
 




ตัดริบบิ้นงานตลาดนัดนวัตกรรม ปลัดวิทย์เร่งดันไบโอพลาสติก
ศุกร์ ที่ 21 เดือน พฤศจิกายน พ.ศ.2551



ปลัดกระทรวงวิทย์ฯ เผยเร่งผลักดันไบโอพลาสติกแก่ผู้ประกอบการไทย อิงกระแสสิ่งแวดล้อม ชี้ไทยได้รับผลกระทบโดยตรงในการบรรจุภัณฑ์ส่งออกสินค้า ระบุต้องดำเนินการคู่ขนาน 2 ด้าน ทั้งงานวิจัยไปสู่ต้นน้ำควบคู่ไปกับการนำเข้าพอลิเมอร์มาใช้ในภาคอุตสาหกรรมก่อน เชื่อไทยมีความล้ำหน้าในภูมิภาคอาเซียน กำลังหารือสิงคโปร์-มาเลย์อัพเดทความก้าวหน้าไบโอพลาสติก
เนื่องจากในการพัฒนาประเทศ “นวัตกรรม” ถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญในลำดับต้นๆ วันนี้ (21 ก.ย.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ได้เปิดงานตลาดนัดนวัตกรรม 2549 และงานนวัตกรรมพลาสติกชีวภาพ 2549 ระหว่างวันที่ 21-24 ก.ย. ขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว ณ บริเวณชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยมี ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นประธาน

ในการเปิดงาน ดร.ศักดิ์สิทธิ์ กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นการจัดงานที่มีอยู่ 2 งานร่วมกัน ในส่วนของการจัดงานนวัตกรรมพลาสติกชีวภาพ กล่าวได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่มีความสำคัญกับประเทศไทยมาก และถือเป็นเทคโนโลยีคลื่นลูกใหม่ เพราะขณะนี้ความต้องการพลาสติกชีวภาพของตลาดโลกและผู้บริโภคมีมาก เช่น ในอดีตที่การผลิตบรรจุภัณฑ์และการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ จะต้องใช้พลาสติกมาก ทว่าก็มีผลทางด้านสิ่งแวดล้อมตามมาด้วย เพราะพลาสติกเหล่านั้นจะไม่สลายในสิ่งแวดล้อม เกิดเป็นขยะมากมายในที่สุด ขณะที่พลาสติกชีวภาพจะเป็นพลาสติกที่ย่อยสลายได้ง่ายกว่ามาก

โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ เช่น ในสหภาพยุโรป หรืออียู ได้กำหนดให้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หรือบรรจุภัณฑ์ควรเป็นพลาสติกชีวภาพ ซึ่งไทยในฐานะผู้ส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และบรรจุภัณฑ์ต่างๆ เช่น ผลิตผลการเกษตร อาทิ ผลไม้ รวมถึงอาหารทะเล ล้วนต้องใช้พลาสติกทั้งสิ้น เรื่องดังกล่าวจึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับประเทศไทยโดยตรง

จากความจำเป็นดังกล่าว ดร.ศักดิ์สิทธิ์ เผยว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงมีแนวทางด้านงานพลาสติกชีวภาพ 2 แนวทางคู่ขนานกัน คือ ประเด็นแรกในขณะที่ประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตพลาสติกชีวภาพในประเทศได้ จึงยังต้องนำเข้าพอลิเมอร์ชนิดพีแอลเอ (PLA) จากต่างประเทศมาใช้ในส่วนของผู้ประกอบการอยู่ ขณะเดียวกันก็ต้องมีการวิจัยไปสู่ต้นน้ำซึ่งมีความร่วมมือกับหลายประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเยอรมนี อาทิ การวิจัยให้ใช้วัตถุดิบอย่างมันสำปะหลังและข้าวโพดให้สามารถผลิตเป็นพลาสติกชีวภาพได้

“เพราะฉะนั้น เราจึงเดิน 2 อย่างขนานกันไป คือ ในเรื่องของความจำเป็นเร่งด่วนที่เราต้องใช้พลาสติกพวกนี้ เราก็ร่วมกับผู้ประกอบการนำเข้าพีแอลเอเข้ามาขึ้นรูปแล้วผสมกับแป้งหรือวัตถุดิบของเรา ขณะเดียวกันก็ต้องทำโร้ดแม็บเรื่องการวิจัยพลาสติกชีวภาพขึ้นไปสู่ต้นน้ำได้ ซึ่งเรามีความพร้อม โดยเฉพาะมันสำปะหลังที่แต่เดิมจะส่งออกในรูปของวัตถุดิบหรืออาหาร แต่หากทำเป็นพลาสติกชีวภาพก็จะทำให้มีราคาดีขึ้นด้วย ผู้ปลูกก็อยากปลูก พร้อมกันนั้นก็ประสานกับนักวิจัยว่าจะปลูกอย่างไรให้ผลผลิตได้มากขึ้น ทั้งวิธีปลูกและสายพันธุ์”

ทั้งนี้ทั้งนั้น ดร.ศักดิ์สิทธิ์ กล่าวว่า การเลือกวัตถุดิบที่นำมาพลาสติกชีวภาพว่าจะเป็นมันสำปะหลัง ข้าวโพด หรือวัตถุดิบอื่นๆ นั้นต้องคำนึงถึงเรื่องต้นทุนด้วย ส่วนที่จะจัดสรรส่วนแบ่งระหว่างการนำมันสำปะหลังไปผลิตเอทานอลในเชิงพลังงานและการผลิตพลาสติกชีวภาพนั้น ต้องมีการพูดคุยกันให้ชัดว่าจะมีความต้องการในแต่ละเรื่องอย่างไร และต้องดูกลไกตลาดด้วย โดยขณะนี้ยังไม่มองไปถึงการผลิตพลาสติกชีวภาพเพื่อการส่งออก แต่จะใช้เพื่อลดต้นทุนการใช้พลาสติกในงานบรรจุภัณฑ์เพื่องานส่งออกและงานอื่นๆ ภายในประเทศก่อน ซึ่งเป็นการยืนบนขาของตัวเอง เวลาเดียวกันก็พยายามทำให้พลาสติกชีวภาพมีราคาถูกลง

ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ บอกด้วยว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังได้หารือกับประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ถึงเรื่องเทคโนโลยีพลาสติกชีวภาพด้วย ซึ่งในภูมิภาคอาเซียนถือว่าไทยมีความก้าวหน้ามาก สำหรับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ก็ไม่ได้มาเพิ่งมาทำงานด้านนี้ แต่ได้เริ่มทำงานร่วมกับเอกชนในการวิจัยมา 1-2 ปีแล้ว

ส่วน นายศุภชัย หล่อโลหการ ผอ.สนช. กล่าวว่า ในการจัดงานครั้งนี้ สิ่งที่สนช.คาดหวังคือเพื่อเป็นการแสดงความก้าวหน้านวัตกรรมของคนไทยในด้านพลาสติกชีวภาพ นอกจากนั้นแล้วยังหวังไว้อย่างมากว่าจะเกิดการลงทุนและวิจัยในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพจากมันสำปะหลังโดยบริษัทต่างประเทศที่เข้ามาร่วมงานด้วย เพราะงานวิจัยที่นำมันสำปะหลังมาผลิตพลาสติกชีวภาพมีน้อยมากๆ เนื่องจากส่วนใหญ่จะเป็นการนำแป้งข้าวโพดมาผลิตมาก ดังนั้นหากชักชวนให้เกิดการลงทุนผลิตพลาสติกชีวภาพจากแป้งมันสำปะหลังได้ก็จะเกิดประโยชน์มาก

ทั้งนี้ ผอ.สนช.บอกด้วยว่า ภายในพิธีเปิดงานยังได้มีการเซ็นสัญญาความร่วมมือด้านการพัฒนาพลาสติกชีวภาพร่วมกันของชมรมพลาสติกชีวภาพของไทยและสถาบันความร่วมมือทางเทคนิคเยอรมัน (German Technical Cooperation: GTZ) ด้วย โดยถือเป็นความร่วมมือที่กำหนดเวลาไว้เบื้องต้นประมาณ 4 ปี มีการช่วยเหลือฝ่ายไทยใน 3 ด้านด้วยกันคือ 1.ความร่วมมือในการสร้างโร๊ดแม็บพลาสติกชีวภาพของไทย 2.ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาการตลาดและการลงทุน และ 3.ความร่วมมือในการสร้างความเข้มแข็งทางการวิจัย

สำหรับการจัดงานตลาดนวัตกรรม 2549 และงานนวัตกรรมพลาสติกชีวภาพ 2549 ประกอบด้วยการจัดแสดงนิทรรศการนวัตกรรมฝีมือคนไทยและจากบริษัทต่างประเทศกว่า 100 บริษัท อาทิ หุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิด นวัตกรรมเต็มเซลล์สำหรับวงการแพทย์ในอนาคต ชุดตรวจสอบชนิดยาในอาหารสัตว์ การ์ดไอซีและถ้วยกาแฟพลาสติกชีวภาพ ฯลฯ นอกจากนั้นยังมีการสัมมนาด้านนวัตกรรมอีกหลากหลายหัวข้อ อาทิ การพัฒนาตราสินค้าในธุรกิจนวัตกรรม และกลยุทธ์การสร้างตราสินค้าของธุรกิจนวัตกรรม ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตามวันและเวลาดังกล่าว



ที่มา
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ