ราคามันสำปะหลัง
ราคาหัวมันสด/มันเส้น (นครราชสีมา) 
ราคามันเส้น/โกดังส่งออก (อยุธยา) 
ราคามันเส้น (กรมการค้าภายใน)
การส่งออกมันเส้น/มันอัดเม็ด (สภาหอการค้าฯ) 
		
		
ชื่อ Admin

รหัสผ่าน :


 
 
 
 
 




3 เฟสสู่ขยะย่อยได้ เป้าหมายชมรมพลาสติกชีวภาพไทย
ศุกร์ ที่ 21 เดือน พฤศจิกายน พ.ศ.2551



เคยถามตัวเองไหมว่าวันนี้คุณใช้และทิ้งพลาสติกไปกี่ชิ้นแล้ว และคุณลืมไปหรือเปล่าว่าขยะพลาสติกนั้นใช้เวลาย่อยนานแค่ไหน ชีวิตที่เร่งรีบอาจทำให้คุณลืมที่จะนึกเรื่องเล็กๆ ที่มีผลกระทบอันยิ่งใหญ่ต่อสิ่งที่อยู่รอบตัว ซึ่งสุดท้ายก็จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของเราเอง เพราะขยะพลาสติกที่หลุดมาจากมือเราทุกคนนั้นได้เพิ่มมากขึ้นๆ กลายเป็นปัญหาที่จัดการยากทุกที

อย่างไรก็ดีได้มีความพยายามจะทำให้พลาสติกซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใกล้ชิดกับทุกวงจรชีวิตของเรามีปลายทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการพัฒนาพลาสติกจากพืชผลทางการเกษตรกลายเป็นพลาสติกที่ย่อยสลายได้ง่ายหลังทิ้งเรียกว่า “พลาสติกชีวภาพ” หรือ “ไบโอพลาสติก” แต่ใช่ว่าการที่ประเทศไทยจะได้ชื่อว่าประเทศเกษตรกรรมแล้วเราจะสามารถนำผลผลิตทางการเกษตรมาสร้างนวัตกรรมนี้ได้ง่ายนัก

นางสาวศรันยา ศรีรัตนะ ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและพัฒนาวัตถุดิบ บริษัททานตะวัน อินดัสเทรียล พับบลิค จำกัด กล่าวว่าการจะผลิตไบโอพลาสติกนั้นต้องใช้ PLA เป็นวัตถุดิบตั้งต้น ซึ่ง PLA นี้เป็นวัตถุดิบที่ทำมาจากพืชผลทางการเกษตร เช่น มันสำปะหลัง และต้องซื้อจากสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก แต่อุตสาหกรรมการผลิตไบโอพลาสติกของไทยยังต้องนำเข้าวัตถุดิบจากญี่ปุ่นที่นำ PLAจากสหรัฐไปเติมสารเคมีเพื่อให้เหมาะแก่การผลิตพลาสติกมากขึ้นอีกต่อหนึ่ง

“อุตสาหกรรมการผลิตไบโอพลาสติกของไทยยังมีปัญหาอยู่ที่มีหลายคนทำแต่ไม่ได้ลิงค์กัน จึงได้ก่อตั้งชมรมพลาสติกชีวภาพไทย (Thai Bioplastic Club: TBC) ขึ้นมาได้ประมาณ 3-4 เดือน มีสมาชิก 5 บริษัทซึ่งมีเป้าหมายผลิตพลาสติกย่อยสลายได้” นางสาวศรันยากล่าว โดยบริษัททั้ง 5 คือ บริษัท ไทยพลาสติก แบ็กส์ อินดัสเทรียล จำกัด, บริษัทคลอลิตี้ มิเนอรัลส์ พับบลิค จำกัด, บริษัทนิปปอน แพ็ค(ประเทศไทย) จำกัด, บริษัทยูนิตี้ไทย โปรดัคส์ จำกัดและบริษัททานตะวัน อินดัสเทรียล พับบลิค จำกัด

“เดิมสมาชิกของชมรมทำอุตสาหกรรมพลาสติกอยู่ก่อนแล้ว แต่การจะพัฒนาไบโอพลาสติกต้องทำย้อนจากปลายน้ำไปต้นน้ำเพราะการเริ่มจากต้นน้ำเลยนั้นต้องใช้เงินลงทุนสูง” นางสาวศรันยาเปิดเผย โดยในการพัฒนาไบโอพลาสติกจะแบ่งเป็น 3 ระยะหรือเฟส โดยเฟสแรกเป็นการทดสอบว่าเครื่องจักรผลิตพลาสติกที่มีอยู่เดิมนั้นจะสามารถเปลี่ยนมาใช้วัตถุดิบสำหรับผลิตไบโอพลาสติกได้หรือไม่ ซึ่งพบว่าเครื่องจักรเดิมสามารถใช้ PLA แทนวัตถุดิบสำหรับผลิตพลาสติกทั่วไปได้


จากนั้นทางกลุ่มก็ได้เริ่มเฟสที่ 2 นั่นคือการสั่งซื้อ PLA มาเติมสารเคมีเพื่อผลิตเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตไบโอพลาสติก โดยจะเริ่มดำเนินการได้ช่วงเดือนหน้า ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในการทดสอบและพัฒนาประมาณ 1-2 ปี จากนั้นเฟสสุดท้ายก็จะเป็นขั้นตอนในการพัฒนา PLA ต่อ ซึ่งไทยมีมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบที่เพียงพอ อย่างไรก็ดีแม้ว่าขณะนี้ไทยจะมีหลายหน่วยงานทำการวิจัยเพื่อผลิต PLA ออกมาแต่ก็ยังอยู่ในสเกลที่ไม่มากพอสำหรับอุตสาหกรรม

ในขั้นตอนการผลิต PLA มีหลักการคร่าวๆ คือนำมันสำปะหลังไปบดเป็นแป้งแล้วนำไปย่อยให้เป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวคือ "กลูโคส" เมื่อได้น้ำตาลแล้วก็นำไปหมักกับจุลินทรีย์ที่สามารถเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นกรดแลคติคเพื่อเข้าสู่กระบวนการ "โพลิเมอไรเซชัน" หรือกระบวนการเปลี่ยนให้เป็นพอลิเมอร์

นางสาวศรันยากล่าวว่าขณะนี้ไทยสามารถผลิตไบโอพลาสติกในส่วนของปลายน้ำคือการนำเข้าวัตถุดิบมาใช้กับเครื่องจักรที่มีอยู่เดิมได้แล้ว และยังคงพัฒนาย้อนกลับไปยังอุตสาหกรรมต้นน้ำตามขั้นตอนที่ได้ชี้แจงข้างต้น ซึ่งคาดหวังว่าอนาคตสัญลักษณ์ TBC ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชมรมจะเป็นที่ยอมรับว่าพลาสติกที่ได้รับตราดังกล่าวเป็นพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและย่อยสลายได้ แต่คงต้องใช้เวลาอีกนานในการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่ยอมรับ

นอกจากนี้ในการทดสอบว่าพลาสติกที่ผลิตโดยสมาชิกของชมรมสามารถย่อยสลายได้จริง ยังได้รับความช่วยเหลือในการทดสอบจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ซึ่งมีหลายกระบวนการทดสอบ เช่น นำไบโอพลาสติกหมักไว้ในดินที่มีจุลินทรีย์อยู่หลายชนิด หากจุลินทรีย์สามารถย่อยสลายพลาสติกได้ก็จะเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งทำให้น้ำยาทดสอบเกิดตะกอน หรือการหมักไบโอพลาสติกทิ้งไว้ให้ย่อยสลายไปเองตามธรรมชาติ เป็นต้น


 แหล่งที่มา :  manager.co.th