อธิการบดี มทส. นำทีมผู้บริหาร เยี่ยมชมและศึกษาดูงาน INFN ประเทศอิตาลี และ ALICE ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ศึกษาดูงานเกี่ยวกับการวิจัยรังสีรักษาโดยการจับยึดนิวตรอน (Neutron Capture Therapy Research) ณ National Institute of Nuclear Physics (INFN) University of Pavia ประเทศอิตาลี

วันที่ 15 ตุลาคม 2557
 

เข้าเยี่ยมชม และศึกษาดูงานเกี่ยวกับการวิจัยด้านรังสีรักษาจากโบรอนจับยึดนิวตรอน (Boron Neutron Capture Therapy, BNCT) ณ National Institute of Nuclear Physics (INFN) University of Pavia ประเทศอิตาลี โดยมี Prof. Alberto Rotondi หัวหน้าภาควิชาฟิสิกส์ Prof. Saverio Altieri และ Dr. Silva Bortolussi ให้การต้อนรับ ซึ่งกลุ่มวิจัยรังสีรักษาโดยการจับยึดนิวตรอนนี้ ได้ศึกษาวิจัยมากว่า 20 ปี เป็นแห่งแรกของโลกที่ใช้ BNCT ในการรักษามะเร็งตับเป็นผลสำเร็จ โดย Prof. Saverio Altieri  นอกจากนี้ได้มีการนำเสนองานวิจัยด้วย BNCT ในการรักษามะเร็งอวัยวะภายในอื่น เช่น ปอด ผิวหนัง เป็นต้น จาก Dr. Silva Bortolussi  อีกทั้งยังได้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการประยุกต์ทางนิวเคลียร์ (The Laboratory of Applied Nuclear Energy, LENA) ซึ่งมีเครื่องกำเนิดนิวตรอนขนาด 250 kW (TRIGA Mark II) อีกด้วย

ซี่งการเข้าศึกษาดูงานในครั้งนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการดำเนินงาน และการศึกษาวิจัยของโครงการศูนย์ปฏิบัติการวิจัยด้านรังสีรักษาจากโบรอนจับยึดนิวตรอน ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และนำไปสู่ความร่วมมือในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการใช้ BNCT ในการรักษาโรคมะเร็งระหว่างมหาวิทยาลัยพาเวีย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในอนาคต

 

 

ศึกษาดูงาน CERN

วันที่ 17 ตุลาคม 2557

          เข้าเยี่ยมชม และศึกษาดูงาน ALICE (A Large Ion Collider Experiment) ซึ่งเป็นหนึ่งในห้องปฏิบัติการขององค์กรเพื่อการวิจัยนิวเคลียร์แห่งยุโรป (European Organization for Nuclear Research) หรือ เซิร์น (CERN) ซึ่งมี Dr. Paolo Giubellino, ALICE Spokesperson ให้การต้อนรับ และได้รับฟังการบรรยายเกี่ยวกับการดำเนินงานในเชิงรุกเพื่อสร้างความรู้ ความเช้าใจเกี่ยวกับฟิสิกส์อนุภาคให้กับครู อาจารย์ระดับมัธยมศึกษา และนิสิตนักศึกษา (Outreach Program) โดย Dr. Konrad Jende  แนวทางการศึกษาวิจัยในการรักษามะเร็งโดยใช้ไอออนหนักหรือโปรตอน โดย Dr. Manjit Dosanjh ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้ ลำโปรตอน หรือไอออนหนักจะสามารถทำลายเซลล์มะเร็งในความลึก และตำแหน่งที่ต้องการได้อย่างแม่นยำ เนื่องจากลำโปรตอน หรือไอออนหนักจะคายพลังงานเกือบทั้งหมดในตำแหน่งที่กำหนด จึงทำให้ก่อผลกระทบกับเซลล์ปกติน้อยมาก ในขณะที่เซลล์มะเร็ง หรือก้อนเนื้องอกนั้นจะถูกทำลายอย่างตรงเป้าหมาย นอกจากนี้ยังได้เยี่ยมชม ALICE detector โดย Dr. Despina Hatzifotiadou และ Low Energy Ion Ring (LEIR) โดย Dr.Christian Carli ซึ่งการเข้าศึกษาดูงานครั้งนี้เป็นประโยชน์ในการวิจัยด้านฟิสิกส์การแพทย์ของมหาวิทยาลัย  และการขยายความร่วมมือกับ CERN ในอนาคต อาทิ โรงเรียนสุรวิวัฒน์ เป็นต้น

 

 

 


ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง