มทส. – PEA เปิดตัวรถโดยสารไฟฟ้าคันแรกของประเทศ วิจัยและพัฒนาขึ้นโดยฝีมือคนไทยมุ่งขยายสู่ภาคขนส่ง

มทส. – PEA เปิดตัวรถโดยสารไฟฟ้าคันแรกของประเทศ  วิจัยและพัฒนาขึ้นโดยฝีมือคนไทยมุ่งขยายสู่ภาคขนส่ง

 

เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2557 เวลา 14.00 น. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) และบริษัทอู่เชิดชัยอุตสาหกรรม จำกัด เปิดตัวรถไฟฟ้าเชิงพาณิชย์คันแรกของประเทศที่พัฒนาขึ้นโดยฝีมือคนไทย พร้อมสถานีประจุแบตเตอรี โดยมีนายนำชัย หล่อวัฒนตระกูล ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) เป็นประธานในเปิดพิธี พร้อมด้วย รศ. ร.อ. ดร.กนต์ธร ชำนิประศาสน์ คณบดีสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร. กิตติ อัถกิจมงคล หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และ นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา ร่วมพิธีเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ณ สำนักงานใหญ่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กรุงเทพฯ





นายนำชัย หล่อวัฒนตระกูล ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) เปิดเผยว่า “ PEA มีแผนในการใช้พลังงานไฟฟ้าในภาคคมนาคมขนส่ง เพื่อเสริมสร้างบทบาทในการเป็นผู้ให้บริการพลังงานไฟฟ้าในภาคคมนาคมขนส่งของประเทศ ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะของ PEA หรือ PEA Smart Grid ดังนั้น กองทุนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของ PEA จึงได้ให้ทุนสนับสนุนแก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในการดำเนินการศึกษาวิจัยโครงการสาธิตรถโดยสารไร้มลพิษสำหรับ PEA ทั้งนี้รถโดยสารไร้มลพิษ (PEA Ze-bus) เป็นรถโดยสารไฟฟ้าใช้งานจริงเชิงพาณิชย์คันแรกของไทยที่สร้างโดยคนไทย ซึ่ง PEA ได้ทุ่มงบสร้างรถบัสดังกล่าวภายใต้ชื่อ PEA ZE-bus จำนวน 19 ล้านบาท ดำเนินการวิจัยทดลองตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 สามารถประหยัดเชื้อเพลิงได้ 50% เมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันทั่วไป โดยสามารถขับเคลื่อนได้จริงในระยะ 100 กิโลเมตรต่อประจุแบตเตอรี่ (ชาร์จ) 3 ชั่วโมง ซึ่งขับได้ความเร็วสูงสุด 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไต่ระดับพื้นที่ชันได้ 28 องศา สำหรับภายในบัสมี 43 ที่นั่ง มี Wifi เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ รวมทั้งมีระบบปฏิบัติการผ่านมือถือสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลาว่ารถบัสไฟฟ้าอยู่บริเวณใด เพื่อไม่ต้องยืนคอยนาน พร้อมทั้งรองรับการขึ้น-ลงของผู้พิการด้วย ถือเป็นความก้าวหน้าด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการขนส่งมวลชนที่สำคัญของประเทศอีกด้านหนึ่งหลังจาก PEAประสบความสำเร็จในการสร้างรถยนต์และมอร์เตอร์ไซค์ระบบไฟฟ้าเรียบร้อยแล้ว”


รศ. ดร.ธนัดชัย กุลวรวานิชพงษ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มทส. หัวหน้าคณะทำงานการศึกษาวิจัยโครงการสาธิตรถโดยสารไร้มลพิษสำหรับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือ Research Study of a Zero Emission Bus Demonstration Project for PEA (PEA Ze-Bus) ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงรถโดยสารไฟฟ้าไร้มลพิษ PEA Ze-bus และสถานีประจุแบตเตอรี่ว่า รถไฟฟ้าไร้มลพิษ PEA Ze-bus ดังกล่าว สร้างและประกอบขึ้นโดยฝีมือคนไทยโดยทีมนักวิจัยจาก มทส. และเจ้าหน้าที่ของบริษัทอู่เชิดชัยอุตสาหกรรม จำกัด มีจุดเด่นที่นอกเหนือจากการ เป็นรถโดยสารไฟฟ้าสำหรับใช้งานจริงในเชิงพาณิชย์คันแรกของประเทศไทย ที่สร้างโดยคนไทยและการออกแบบในการใช้งานที่รองรับเทคโนโลยีการเชื่อมต่อระบบ Internet Wifi สามารถเชื่อมต่อ Internet ได้ตลอดการเดินทางและมีการออกแบบเพื่อผู้พิการแล้ว ในด้านเทคโนโลยียังใช้ระบบขับเคลื่อนรถที่ทันสมัยจากยุโรป โดยขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัว (Hub-motor) มีคุณสมบัติในด้านประหยัดพลังงานและสามารถกันน้ำได้ ใช้ชุดแบตเตอรี่ชนิด Lithium-lon (ลิเที่ยม ไออน) เป็นแหล่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้กับระบบขับเคลื่อน ซึ่งมีน้ำหนักเบาและมีขนาดเล็กกว่าแบตเตอรี่ชนิดตะกั่วกรด สามารถรองรับระบบสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ ในอนาคต ระบบควบคุมการขับเคลื่อน (ECU) พัฒนาโดยทีมวิจัยคนไทย มีระบบ menemukan hp hilang viaGPS Tracking ผู้โดยสารสามารถตรวจสอบการทำงานของรถโดยสารไฟฟ้าและข้อมูลการเดินทางผ่านแอพพลิเคชั่น บนมือถือ ทั้งระบบปฏิบัติการ ios และ Android ระบบไฟฟ้าแสงสว่างและป้ายแสดงผลบนรถโดยสารไฟฟ้าใช้เทคโนโลยี LED ทั้งหมด ทั้งนี้ ทีมวิจัยจาก มทส.และ PEA จะดำเนินการทดสอบสมรรถนะทุกด้านในสภาพการใช้งานจริงในประเทศไทยช่วง 6 เดือนนับจากนี้ ซึ่งหากโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการแล้ว จะได้ต้นแบบรถโดยสารไร้มลพิษที่ใช้พลังงานไฟฟ้า 100% และสามารถใช้งานได้จริง เป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาและประยุกต์ใช้ในการสร้างรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าในภาคขนส่ง สนับสนุนแผนพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้า อัจฉริยะของ PEA และสามารถลดปริมาณการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งยังช่วยลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักของการวิจัยในครั้งนี้” รศ.ดร.ธนัดชัย กล่าวในที่สุด




ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง